ครม.ทุ่มงบ 2.93 พันล้าน เดินหน้า "ประกันภัยข้าวนาปี" คุ้มครอง 7 ภัยธรรมชาติ

30 มี.ค. 2564 | 16:55 น.
817

ครม.ทุ่มงบกว่า 2.93 พันล้าน เดินหน้า "ประกันภัยข้าวนาปี" คุ้มครองความเสี่ยง 7 ภัยธรรมชาติ ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายรวม 46 ล้านไร่

30 มีนาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ว่า ครม.เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 พื้นที่ประกันภัย รวม 46 ล้านไร่ ภายใต้วงเงิน 2,936 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริง ซึ่งโครงการปีการผลิต 2564 เป็นโครงการต่อเนื่องปีที่ 10

การดำเนินงานส่วนใหญ่มีลักษณะเดียวกันกับปี 2563 โดยปรับอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ลดลง 1 บาท (จาก 97 บาท/ไร่ เหลือ 96 บาท/ไร่) และปรับอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ซื้อประกันภัยเพิ่มและอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำลดลง 3 บาท (จาก 58 บาท/ไร่เหลือ 55 บาท/ไร่) ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 มีพื้นที่เป้าหมายประกันภัย รวม 46 ล้านไร่ มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย ดังนี้

1.ค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน Tier 1 กำหนดตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกร รวม 45 ล้านไร่ แบ่งเป็น

-ลูกค้า ธ.ก.ส. ทุกราย ค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาทต่อไร่ (รวม 28 ล้านไร่) โดยรัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 58 บาทต่อไร่ และธกส. อุดหนนุนให้ 38 บาทต่อไร่ (ยังไม่รวมค่าอาการแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

-เกษตรกรทั่วไป และลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ซื้อเพิ่ม ค่าเบี้ยประกันภัยในพื้นที่เสี่ยงต่ำ 55 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 210 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 230 บาทต่อไร่ (รวม 17 ล้านไร่) โดยรัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 55 บาทต่อไร่ (ยังไม่รวมค่าอาการแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) คุ้มครองความเสี่ยงจาก 7 ภัยธรรมชาติ ไร่ละ 1,260 บาท ได้แก่

1.น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก

2.ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง

3.ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น

4.ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง

5.ลูกเห็บ

6.ไฟไหม้

7.ช้างป่า และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดไร่ละ 630 บาท

2.ค่าเบี้ยประกันภัยแบบสมัครใจ Tier 2 กำหนดตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกร จำนวน 1 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องเป็นผู้ชำระเอง แบ่งเป็น พื้นที่เสี่ยงต่ำ 24 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 48 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 101 บาทต่อไร่ โดยคุ้มครองความเสี่ยงจาก 7 ภัยธรรมชาติ ไร่ละ 240 บาท และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดไร่ละ 120 บาท

ส่วนการดำเนินการขายกรมธรรม์จะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค คือ

1.ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่1) ภายใน 30 เมษายน 2564

2.ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 2) ภายใน 31 พฤษภาคม 2564 

3.ภาคตะวันตก ภายใน 30 มิถุนายน 2564

4.ภาคใต้ ภายใน 31 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินโครงการปีการผลิต 2563 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรทำประกันภัย Tier 1 จำนวน 3.30 ล้านราย พื้นที่รวม 44.36 ล้านไร่ ส่วนประกันภัยเพิ่มเติม Tier 2 มีเกษตรทำประกันภัยจำนวน 3.33 หมื่นราย พื้นที่รวม 4.79 แสนไร่ รวมเบี้ยประกันภัยทั้ง 2 ประเภท จำนวน 4.04 พันล้านบาท และมีคำขอรับค่าสินไหมทดแทนจากเกษตรกรแล้ว 3.67 หมื่นราย เป็นเงิน 516 ล้านบาท

"รัฐบาลขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรร่วมทำประกันภัยข้าวนาปี เพื่อเป็นการลดความสูญเสียหากเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืชหรือโรคระบาด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับลดสัดส่วนการอุดหนุนของภาครัฐในการจ่ายเบี้ยประกัน เพื่อให้ระบบประกันภัยมีการซื้อขายได้โดยทั่วไป เหมือนการทำประกันภัยรถยนต์หรืออุบัติเหตุ เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐ" นางสาวรัชดา รองโฆษกประจำสำนักนายก กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เคาะโรดแมพเปิดประเทศ เริ่ม1 เม.ย.นี้ที่ภูเก็ต

เปิดรายชื่อ11 ประเทศ เข้าไทยหลัง1 เม.ย.ยังต้องกักตัว 14 วัน

ขยายอายุแท็กซี่ 12ปี ประกาศแล้ว ระเบียบขนส่งฯ3ฉบับ

ศบศ.เคาะ 1 ก.ค.นี้ เปิดประเทศ คนฉีดวัคซีนโควิดไม่ต้องกักตัว

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐบัตรคนจน เดือนเมษายน64 คลัง โอนเงินให้ผู้ถือบัตรวันไหนเช็กที่นี่