เริ่มแล้ว รฟท.เปิดขบวนรถไฟทางไกล-นำเที่ยว เพิ่ม 30 ขบวน

14 มี.ค. 2564 | 19:13 น.
7.4 k

รฟท. เปิดให้บริการขบวนรถทางไกล และขบวนรถนำเที่ยวเพิ่มเติม 30 ขบวน เพื่อรองรับการผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด เริ่ม 13 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.) เปิดเผยว่า  การรถไฟฯ ได้ประกาศปรับเพิ่มการให้บริการเดินขบวนรถโดยสารทางไกล และขบวนรถนำเที่ยวเพิ่มเติม จำนวน 30 ขบวน โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ประกอบด้วย

1. ขบวนรถโดยสารทางไกล จำนวน 30 ขบวน (ไป-กลับ) ดังนี้

1.1 สายใต้ จำนวน 10 ขบวน

- ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลราง ที่ 43  กรุงเทพ สุราษฎร์ธานี เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 

- ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางที่ 40  สุราษฎร์ธานี - กรุงเทพ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2564

- ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 31 กรุงเทพ หาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2564

- ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 32  หาดใหญ่ กรุงเทพ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2564

- ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางที่ 39/44  กรุงเทพ สุราษฎร์ธานี กรุงเทพ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 

- ขบวนรถด่วนที่ 83/84    กรุงเทพ ตรัง กรุงเทพ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 

- ขบวนรถเร็วที่ 175/176    หาดใหญ่ สุไหงโกลก - หาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 

1.2 สายเหนือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 จำนวน 4 ขบวน

- ขบวนรถเร็วที่ 107/108    กรุงเทพ เด่นชัย กรุงเทพ

- ขบวนรถเร็วที่ 109/102    กรุงเทพ เชียงใหม่ กรุงเทพ

1.3 สายตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 จำนวน 7 ขบวน

- ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคาที่ 25 กรุงเทพ หนองคาย

- ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลราง ที่ 71  กรุงเทพ อุบลราชธานี

- ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลราง ที่ 75  กรุงเทพ หนองคาย

- ขบวนรถเร็วที่ 139/140    กรุงเทพ อุบลราชธานี กรุงเทพ

- ขบวนรถเร็วที่ 145/146    กรุงเทพ อุบลราชธานี กรุงเทพ

1.4 สายตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 จำนวน 3 ขบวน

- ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคา ที่ 26  หนองคาย - กรุงเทพ

- ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลราง ที่ 72  อุบลราชธานี - กรุงเทพ

- ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลราง ที่ 76  หนองคาย - กรุงเทพ

 

2. ขบวนรถนำเที่ยววันหยุด และขบวนรถพิเศษโดยสารวันหยุด เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่

วันที่ 13 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป จำนวน 6 ขบวน (ไป-กลับ)

- ขบวนรถนำเที่ยว 909/910   กรุงเทพ-น้ำตก-กรุงเทพ

- ขบวนรถนำเที่ยว 911/912   กรุงเทพ-สวนสนประดิพัทธ์-กรุงเทพ

- ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 997/998  กรุงเทพ-บ้านพลูตาหลวง-กรุงเทพ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการดำเนินการให้สอดรับกับแนวทางการผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตลอดจนรองรับกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟที่คาดว่าจะมีปริมาณการเดินทาง ทั้งภายในเขตเมือง ระหว่างเมือง และทางไกลเพิ่มมากขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการฯ

อย่างไรก็ตามการรถไฟฯ ยังได้คำนึงถึงความสะดวกในการให้บริการของประชาชน ควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดจุดคัดกรองวัดไข้ผู้โดยสารก่อนเข้าในพื้นที่สถานี การตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ การให้สวมหน้ากาก การรักษาระยะห่าง Social Distancing ให้มีจุดยืน /นั่ง ให้ชัดเจนทั้งภายในสถานีและขบวนรถ โดยให้เว้นที่นั่งในลักษณะที่เว้นที่เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารนั่งติดกัน ยกเว้นผู้โดยสารที่เดินทางมาด้วยกัน รวมทั้งยังให้มีการจำหน่ายตั๋วโดยสารไว้ที่ร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด พร้อมกับให้สแกนแอพพลิเคชัน ไทยชนะ ก่อนและหลังใช้บริการ แต่หากผู้โดยสารไม่สามารถใช้แอพพลิเคชันไทยชนะ ให้สามารถกรอกข้อมูลการเดินทางแทน  ขณะเดียวกัน ในบางพื้นที่ที่ยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด การรถไฟฯ ยังได้มีการขยายเวลางดการให้บริการเดินรถโดยสารเชิงพาณิชย์ชั่วคราวต่อไปจนกว่าจะแจ้งเปลี่ยนแปลง