ปักธง‘แลนด์บริดจ์’บูมศก.ใต้

05 มี.ค. 2564 | 05:00 น.
2.4 k

เอกชนแดนใต้หนุนแลนด์บริดจ์ แสนล้าน ดันสู่ประตูตะวันตกสนข.คาดเริ่มก่อสร้างในปี 67 เป้า 10 ปี ดันจีดีพี พื้นที่โต 10% ในปี 79 2.4 หมื่นล้านเป็น 1.2 แสนล้านบริษัทที่ปรึกษา ประชาพิจารณ์มี.ค.นี้

กระทรวงคมนาคมลงนามสัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้นประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้หรือแลนด์บริดจ์เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันด้วยการพัฒนาท่าเรือระนองกับชุมพรเป็นท่าเรือทันสมัยเมื่อวันที่1มีนาคม2564 ที่ผ่านมา 

โดยใช้เวลาศึกษา 30 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลงนามสัญญา ทั้งนี้นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า โครงการนี้จะก่อสร้างภายในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการภายในปี 2569 หลังเปิดดำเนินการครบ 10 ปีคือในปี 2579 จะช่วยผลักดันมูลค่าจีดีพีภาคใต้เพิ่มขึ้นจาก 2.4 หมื่นล้านบาท เป็น 1.2 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ จีดีพีภาคใต้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 10% ของจีดีพีภาพรวม เพราะเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ช่วยลดเวลาขนส่งทางเรือลงถึง 2 วัน ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางนํ้าของภูมิภาคเปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทร แปซิฟิกส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนช่วยสร้างโอกาสสร้างงานสร้างรายได้มูลค่าโครงการกว่า 1แสนล้านบาท สำหรับการลงทุนเน้นรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนภาครัฐตามพระราชบัญญัติ (พรบ.) ร่วมลงทุน ปี2562 (PPP) ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะได้รับความสนใจจากภาคเอกชน

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง สะท้อนว่าโครงการแลนด์บริดจ์สอดรับกับแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC) ที่จะให้จังหวัดระนองในอีก20 ปีข้างหน้า เป็นเมืองท่าสำคัญของโลกเป็นยุทธศาสตร์ที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง

โดยแผนงานการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ คือการพัฒนา 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ตั้งเป้าให้จังหวัดระนองเป็นท่าเรือทางฝั่งตะวันตก เชื่อมเมียนมา อินเดีย ลังกา บังกลาเทศ ชุมพรเป็นเมืองการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยว สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่เกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตร

แลนด์บริดจ์

ทั้งนี้ แลนด์บริดจ์ คือโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ข้ามคาบสมุทรระหว่างฝั่งอ่าวไทยที่ชุมพรกับฝั่งอันดามันที่ระนอง ที่จะมีท่าเรือที่ทันสมัยที่ปลายทั้ง 2 ด้าน เชื่อมโยงกันด้วยระบบรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ ซึ่งนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลาง-ยาว ในศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) เสนอให้กระทรวงคมนาคมเดินหน้าศึกษาและก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นทางรถไฟสายแรกที่เชื่อมตอนในของประเทศเข้ากับท่าเรือฝั่งอันดามัน

นายไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ทางหอการค้า ภาคเอกชน กลุ่มการเมืองท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ 80-90 % เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อเชื่อมท่าเรือ 2 ฝั่งทะเลระหว่างชุมพรกับระนอง ทั้งนี้ก่อนหน้านี้กรมเจ้าท่าเคยจ้างที่ปรึกษามาศึกษาและทำประชาพิจารณ์ ซึ่งชาวชุมพรผ่านความเห็นชอบให้การสนับสนุน ด้านอีไอเอก็ผ่าน โดยมีแผนจะก่อสร้างท่าเรือที่แหลมคอกวาง อ.เมืองชุมพร นํ้าลึก 12-13 เมตรอยู่แล้ว แต่สุดท้ายถูกตีตกไปว่า ไม่คุ้มการลงทุน

ขณะที่บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด (ยูเออี)หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า เนื่อง จากโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างท่าเรือ นํ้าลึกที่มีความลึกราว 15 เมตร อีกทั้งต้อง ประเมินพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการสร้างท่าเรือ ขณะเดียวกันต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และภายในเดือนมีนาคมนี้ จะลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564