บ้านปูกางแผนธุรกิจ 5 ปี รุกแหล่งพลังงาน-เหมือง-ผลิตไฟฟ้า-เทคโนโลยีพลังงาน

26 ก.พ. 2564 | 08:00 น.

บ้านปูกางแผนธุรกิจ 5 ปี รุกแหล่งพลังงาน-เหมือง-ผลิตไฟฟ้า-เทคโนโลยีพลังงาน ตั้งเป้าปี 68 มี EBIDA ในสัดส่วน 50%

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 64 บ้านปูได้กำหนดแผนธุรกิจ 5 ปี ฉบับใหม่ สำหรับปี 2564 – 2568 ซึ่งประกอบด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ Acceleration เร่งสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ใน 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจเหมือง ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน 

Antifragile รับมือกับความเปลี่ยนแปลงและวงจรเศรษฐกิจโลกผ่านพอร์ตโซลูชันด้านพลังงานที่ครบวงจร โดยกระจายความเสี่ยง และคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และ Augmentation ต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจปัจจุบันและความเชี่ยวชาญในด้านพลังงานเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานที่สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานในอนาคตได้รวดเร็วและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปี มีแนวทางการดำเนินการในกลุ่มธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

ธุรกิจหลักของบ้านปู

1.กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ทางด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จะมุ่งสร้างประสิทธิภาพสูงสุด โดยผสานพลังร่วมระหว่างแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง โดยจะรักษากำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 700 ลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติต่อวัน รวมทั้งการคว้าโอกาสเมื่อสถานการณ์ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้น ด้วยการประกันความเสี่ยงการลงทุน (Hedging) และสร้างความยืดหยุ่นในงบลงทุน (CAPEX Flexibility) 

นอกจากนี้ จากการที่บริษัท Oaktree Capital Management L.P. (โอ๊คทรี) บริษัทบริหารกองทุนระดับโลก เข้ามาร่วมลงทุนกับ BKV Corporation ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู จะช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจต้นน้ำ และต่อยอดการเติบโตของธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ของบริษัทฯ สำหรับแนวทางในอนาคต จะมองหาโอกาสการลงทุนต่อยอดในธุรกิจกลางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจ  

สอดรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนธุรกิจเหมือง มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดในช่วงราคาถ่านหินเพิ่มสูง บริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  รวมทั้งเพิ่มการจัดซื้อถ่านหินจากผู้ผลิตรายอื่นร่วมด้วย (Coal Trading) เพื่อให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าแต่ละราย นอกจากนี้ยังหาโอกาสใช้พื้นที่เหมืองที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเติบโตในธุรกิจเหมืองอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์พลังงานแห่งอนาคต

2.กลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้า เน้นสร้างเสถียรภาพการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าทั้งหมดด้วยดัชนีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ที่สูง และเดินหน้าเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าต่างๆ ตามแผน อีกทั้งมุ่งขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าในปัจจุบันตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ทั้งในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม สำหรับแนวทางการดำเนินการในอนาคตจะมุ่งเน้นการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และขยายการลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Scale Up) ขยายระบบนิเวศของธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจจากเทรนด์ด้านพลังงานใหม่ๆ รวมทั้งชูจุดเด่นการเป็นผู้ให้บริการสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงานสะอาดที่ฉลาดขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรในธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftops) ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ (Renewable Energy Power Plant) ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System หรือ ESS) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และธุรกิจแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) 

นอกจากนี้ ยังเน้นขยายพอร์ตธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน และพัฒนาศักยภาพธุรกิจใหม่ๆ ที่เหมาะกับระบบนิเวศทางธุรกิจของบ้านปู รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจเดิมกับธุรกิจใหม่ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต  

“ในโลกยุค Never Normal การเดินหน้าสร้างการเติบโตในฐานะผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ที่มุ่งนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานครบวงจร จะต้องทันกับตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องยืนหยัดก้าวข้ามความท้าทายที่คาดเดาไม่ได้ 5 ปีต่อจากนี้ ตั้งเป้าว่า ภายในปี 68 จะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) จากธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานของบ้านปู จะมีสัดส่วนถึง 50% เพื่อเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่งในระยะยาวสู่อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability)” 

              นางสมฤดี กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินธุรกิจพลังงานในปี 63 สะท้อนความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 (Covid-19) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจโลก และทุกภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งความต้องการด้านพลังงานโลกในภาพรวมลดลง  แต่บ้านปูยังคงสามารถปรับกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สามารถรับมือกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับวิถีใหม่ของโลกในยุค Never Normal และยังประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจในการเดินหน้า Banpu Transformation เพื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่เป้าหมายของความยั่งยืนด้านพลังงาน

ทั้งในด้านการเพิ่มสัดส่วนพอร์ตฟอลิโอพลังงานสะอาดและฉลาด ผ่านบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่ตอบรับกับเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคต สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด และการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)  ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างชาญฉลาด

ภาพรวมปี 63 บ้านปูฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 2,283 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.85 หมื่นล้านบาท  ลดลงจากปีก่อน 476 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.42 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 17%  มี EBITDA รวม 563 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.69 หมื่นล้านบาท ลดลง 20% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง และรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 56 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.68 หมื่นล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :