เดือดจัด กทม.ซัด คมนาคม หลังค้านต่อสัมปทานสายสีเขียว

16 ธ.ค. 2563 | 16:21 น.
610

กทม.ฉุน คมนาคม เหตุแย้งความเห็น ต่อขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เตรียมถกบีทีเอส-สจส. หารือค่าโดยสาร 18 ธ.ค.นี้ ขณะที่ต่อขยายสายสีเขียว 2 เส้นทาง หมดหวังหลังกทม.คาดไม่เห็นกำไร ลั่นไม่ขัดข้องหากรัฐช่วยสนับสนุนงบฯ ดึงเอกชนร่วมทุนพีพีพี

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  เปิดเผยว่า สำหรับการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เบื้องต้นภายในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ทาง กทม. ,บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส และสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) จะหารือถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งในการประชุมที่จะถึงนี้  กทม.เตรียมเสนอขอยึดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสา จนหมดอายุสัญญาจ้างเดินรถถึงปี 2585 ทั้งนี้ กทม.จะยอมจ่ายค่าส่วนต่างให้กับ บีทีเอส โดยจะยอมขาดทุน เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชน  

ขณะเดียวกันหากไม่มีการต่ออายุสัมปทานสายสีเขียว อาจจะต้องกลับมาใช้อัตราค่าโดยสารจากผลการศึกษาตามระยะทางสูงสุด 158 บาท  ส่วนเรื่องภาระหนี้ที่กทม.แบกรับนั้น ขณะนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณา ปัจจุบันกทม.ได้ทำหนังสือรายงานหนี้ที่ต้องชำระแก่รัฐบาล เพื่อช่วยชำระหนี้แทนกทม.ไปก่อน  ทำให้กทม. ต้องแบกรับภาระหนี้จากการจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และใต้ ช่วงแบริ่ง-เคหะฯ-สมุทรปราการ จำนวน 8.3 พันล้านบาท และคาดว่าในเดือนมกราคม 2564 ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านบาท รวมเป็น 8.5 พันล้านบาท ที่ผ่านมา บีทีเอสได้ส่งหนังสือทวงหนี้ถึง 3 ครั้ง ซึ่งกทม.ได้มีการเจรจากับทางบีทีเอส เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้อง

 

“ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ทั้ง 4 เรื่อง คือ 1.ความครบถ้วนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2.ค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ 3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ4.ข้อพิพาททางกฎหมายและการร้องเรียน นั้น กทม.ยืนยันว่าได้ตอบทุกข้อสงสัยของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปทั้งหมดแล้ว และไม่หน้าที่ตอบคำถามของกระทรวงคมนาคม  เรามองว่าเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะมากวาดบ้านคนอื่น ถ้าเขายังกวาดบ้านของเขาไม่เสร็จ” 

พล.ต.อ.อัศวิน  กล่าวต่อว่า  สำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 เส้นทาง ช่วงคูคต-ลำลูกกา และช่วงสมุทรปราการ-สถานตากอากาศบางปู ขณะนี้กทม.ต้องหารือร่วมกับทางจังหวัดก่อนว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากระยะทางค่อนข้างสั้นและอาจไม่เห็นกำไร หากจะเปิดประมูลในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ก็สามารถทำได้ แต่รัฐจะต้องให้งบประมาณมาสนับสนุนในเส้นทางดังกล่าวด้วย

 

ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณผู้โดยสารของ 7 สถานีที่เปิดเพิ่มเติม คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารในส่วนต่อขยายช่วงสถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เฉลี่ยในวันทำการที่ 132,200 เที่ยว/คนต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 252,200 เที่ยว/คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว เป็นผลจากในเส้นทางนี้มี สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการสำคัญตั้งอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีอาคารจอดแล้วจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า จำนวน 3 แห่ง ณ สถานีแยกคปอ. สถานีปลายทางคูคต และสถานีเคหะ รองรับจำนวนรถได้รวม 1,755 คัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่เดินทางได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเปิดให้บริการฟรีถึง 15 ม.ค.2564