ชงครม.6.8 พันล. รื้อแบบ“มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช”

12 ธ.ค. 2563 | 08:47 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2564 | 22:22 น.

                “ศักดิ์สยาม” สั่ง กรมทางหลวงเร่งปิดดีลโอแอนด์เอ็มสายบางปะอิน-นครราชสีมา หลังปรับแบบ 17 ตอน เตรียมเสนอครม. เคาะวงเงินเพิ่ม 6.8 พันล้าน ภายในเดือน ม.ค.64 หวั่นกระทบลงนามสัญญาล่าช้า คาดเฟสแรกส่งมอบพื้นที่ 9 ด่าน-งานโยธา 20 สัญญา

 

 

 

 

หลังล่าช้าจนต้องเลื่อนการเปิดใช้เส้นทางออกไปสำหรับ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา โดยเฉพาะแบบเส้นทางที่ต้องปรับใหม่ ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา M6 ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) ว่า ขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องการปรับแบบเส้นทางสร้างมอเตอร์เวย์สายดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องรอความชัดเจนของแผนก่อสร้าง ก่อนที่จะดำเนินการลงนามพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและการบำรุงรักษา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง เบื้องต้น กรมทางหลวง (ทล.) ได้ทำงานร่วมกับมหา วิทยาลัย และนักวิชาการ เพื่อร่วมกันปรับแบบให้เหมาะสม

 

รายงานข่าวจาก ทล. กล่าวว่า ส่วนปัญหาการปรับแก้แบบก่อสร้างของมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครราชสีมา เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่าตามเส้นทางออกแบบเดิมกำหนดไว้เป็นทางถนน แต่เมื่อเข้าสำรวจพื้นที่แล้วพบว่าบริเวณดังกล่าวขวางทางนํ้า ดังนั้นมีความจำเป็นต้องปรับแบบก่อสร้างให้เป็นสะพานยกระดับ ซึ่ง ทล. ขอยืนยันว่าไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน เพราะมีการขออนุญาตกรมป่าไม้เพื่อใช้เขตทางดังกล่าวแล้ว

               

ชงครม.6.8 พันล.  รื้อแบบ“มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช”

 

 

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า สำหรับการปรับแบบทั้ง 17 ตอน ปัจจุบันทล.ได้เชิญ 14 หน่วยงาน อาจารย์จากสถาบันการศึกษา 12 สถาบัน รวมทั้งสภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและบริเวณพื้นที่ที่จะมีการปรับแบบทั้ง 17 ตอน เพื่อให้สอดคล้องกับแบบที่วางไว้ โดยยึด 4 เหตุผลหลัก ประกอบด้วย 1. รูปแบบการประกวดราคาโครงการฯ ปี 2558-2559 ไม่สอดคล้องกับแบบที่วางไว้ในปี 2555 2.สภาพธรณีวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ชั้นดินและชั้นหินที่แตกต่างกันออกไป 3.เงื่อนไขการขอใช้พื้นที่ผ่านหน่วยงานต่างๆของโครงการฯ เช่น บริเวณคลองชลประทาน จำเป็นต้องปรับความสูงของสะพานให้มีความยาวเพิ่มขึ้น และ 4.การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินโครงการฯ

 

 “หลังจากที่พิจารณาการปรับแบบแล้ว ถ้าพบว่าพื้นที่บริเวณใดสามารถปรับลดพื้นที่ได้ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณลงได้ หากได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเสร็จภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเพิ่มวงเงินในการปรับแบบ โดยปัจจุบันงานโยธาอยู่ที่ 70,000 ล้านบาท งานประกวดราคา อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะเหลืองบประมาณราว 10,000 ล้านบาท เบื้องต้นได้มีการเสนอขอวงเงินงบประมาณ 6,800 ล้านบาท แต่เชื่อว่าวงเงินจะลดลงและตํ่ากว่า 6,800 ล้านบาท แน่นอน”

 

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ทล.ยืนยันจะเปิดให้บริการทดลองวิ่งปลายปี 2565 ขณะนี้สถานะความก้าวหน้าโครงการฯอยู่ที่ 92% ส่วนกรณีที่รออัยการสูงสุดตอบกลับแผนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนดำเนินการในส่วนของโอแอนด์เอ็มมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมานั้น เบื้องต้นทางอัยการสูงสุดได้ตอบกลับมาแล้ว ซึ่งทล.ได้มีการประชุมหารือร่วมกับกลุ่ม BGSR (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮล ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS/บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF / บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH แล้ว โดยทล.มีการแก้ไขร่างสัญญาเอกสารแนบท้ายแล้วเสร็จ

 

ส่วนใหญ่เป็นการปรับแก้เรื่องข้อความที่มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งได้หารือถึงการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ บ้างแล้ว ขณะเดียวกันนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีความกังวลในการลงนามสัญญาโครงการฯ ว่า หากการขอวงเงินเพิ่มเติมในการปรับแบบทั้ง 17 ตอนยังไม่เรียบร้อยเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในกรณีส่งมอบพื้นที่ได้ คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายในเดือนมกราคม 2564 หลังจากนั้นจะลงนามสัญญาต่อไป ทั้งนี้เอกชนยังยืนราคาในการประมูลโครงการฯ ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 หากติดปัญหาเรื่องการปรับแบบ 17 ตอน ยังไม่แล้วเสร็จก็สามารถขยายระยะเวลาการยืนราคาได้ไม่มีกำหนดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเอกชนด้วย

 

 

 

 

 

 

 นายปิยพงศ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า หลังจากมีการลงนามสัญญาแล้วจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ซึ่งทล.ต้องพร้อมในการส่งมอบพื้นที่บางส่วนตามที่ตกลงไว้ เบื้องต้นเฟสแรกจะส่งมอบพื้นที่บริเวณด่านทั้ง 9 ด่าน ด่านบางปะอิน วังน้อย สระบุรี หินกอง แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง สีคิ้ว ขามทะเลสอ รวมทั้งงานโยธาที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อีก 20 สัญญา เพื่อให้เอกชนเข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบโอแอนด์เอ็ม หลังจากนั้นจะทยอยส่งมอบพื้นที่ที่เหลือต่อไป

               

สำหรับโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ทล.เปิดประกวดราคาในรูปแบบ PPP gross cost ให้สัมปทานเอกชนระยะเวลา 30 ปี โดยระยะที่ 1 เอกชนต้องออกแบบและติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบจัดการจราจร สร้างอาคารด่าน คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี ส่วนระยะที่ 2 ต้องบำรุงรักษาตลอดระยะเวลา 30 ปี และจะได้รับค่าตอบแทนหลังเปิดบริการตามวงเงินที่เสนอ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ เป็นเอกชนที่เสนอราคาตํ่าสุด แบ่งออกเป็นมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช ราคากลาง 33,258 ล้านบาท มีการเสนอราคาตํ่าสุดอยู่ที่ 21,329 ล้านบาท ตํ่ากว่าราคากลาง 11,929 ล้านบาท

หน้า 7 ฉบับ 3635