บีโอไอจัดหนัก แพ็กเกจดูดลงทุนปี 64 ดันดิจิทัล-รถ EV-การแพทย์ แม่เหล็กใหม่

03 ธ.ค. 2563 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2563 | 19:21 น.
3.5 k

บีโอไอเตรียมชงบอร์ดไฟเขียว มาตรการกระตุ้นลงทุนปี 64 ดูดทุนไทย-เทศแข่งเวียดนาม ชูย่านนวัตกรรมทางการแพทย์ อุตฯดิจิทัลครบวงจร รถ EV แม่เหล็กตัวใหม่ พร้อมทบทวนส่งเสริมลงทุนเขตศก. ชายแดน 10 จังหวัด สภาอุตฯจี้เพิ่มบทบาทบีโอไอหนุนลงทุนนอก

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของคนไทยและต่างชาติทั้งปี 2563 จะมีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 300,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่ขอรับการส่งเสริมมูลค่ากว่า 756,104 ล้านบาท จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้นักลงทุนรายใหม่ ๆ ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้โดยสะดวก อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันอย่างเวียดนามพบว่าเพียง 10 เดือนแรกปี 2563 มีทุนต่างชาติ(FDI)ขอรับการส่งเสริมในเวียดนามถึง 2,100 โครงการ เงินลงทุนกว่า 3.6 แสนล้านบาท ดังนั้นถือเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อดึงการลงทุนในปี 2564 ที่จะมาถึง

 

ชู 3 ธุรกิจใหม่ดูดลงทุน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน)ปลายเดือนธันวาคมนี้ บีโอไอได้เตรียมนำเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์ โดยบีโอไอได้หารือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และได้เลือก “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” บริเวณถนนโยธี-ราชวิถี พื้นที่รวมประมาณ 2.2 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่นำร่องในระยะแรก จากมีความพร้อมมากที่สุด มีทั้งโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ สถาบันวิจัยทางการแพทย์หลายแห่งเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านสาธารณสุข และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่สามารถดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้รวมกันเป็นคลัสเตอร์

 

บีโอไอจัดหนัก แพ็กเกจดูดลงทุนปี 64 ดันดิจิทัล-รถ EV-การแพทย์ แม่เหล็กใหม่

                                นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์

 

“เป้าหมายของย่านนวัตกรรมทางการแพทย์นี้เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นด้านยาและวัคซีน สมุนไพร อุปกรณ์การแพทย์ ชุดตรวจ ไปจนถึงบริการทางการแพทย์ การพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล(Tele-Medicine) และการแพทย์แม่นยำ เป็นต้น โดยบีโอไอเตรียมเสนอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐานเพื่อจูงใจนักลงทุนและกลุ่มสตาร์ตอัพ ด้านสุขภาพให้เข้ามาลงทุนพัฒนาในย่านนวัตกรรมนี้”

บีโอไอจัดหนัก แพ็กเกจดูดลงทุนปี 64 ดันดิจิทัล-รถ EV-การแพทย์ แม่เหล็กใหม่

 

ต่อมาคือมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลแบบครบวงจรทั้งผู้พัฒนาและผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป็นผลจากบีโอไอได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลมาเป็นเวลานาน ครอบคลุมทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ การให้บริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างด้านดิจิทัลและ Ecosystem เช่น digital park, data center, cloud services, incubation center, co-working space, maker space เป็นต้น แต่เนื่องจากดิจิทัลเป็นธุรกิจที่มีพลวัตอยู่ตลอดเวลา มีโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ บีโอไอจึงจะใช้โอกาสนี้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลมากขึ้น

 

“โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิด digital transformation (การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับทุกภาคส่วนของธุรกิจ) เร็วขึ้น จึงจะใช้จังหวะนี้เร่งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการผลิต การบริหารคลังสินค้า หรือการบริหารข้อมูลในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศด้วย บีโอไอจึงเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลแบบครบวงจร ทั้งฝั่ง Supply (ผู้พัฒนา) และฝั่ง Demand (ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ)”

 

ทบทวน 4 มาตรการเดิม               

นอกจากนี้จะมีการพิจารณาทบทวนมาตรการที่จะสิ้นสุดในปี 2563ใน 4 เรื่องคือ มาตรการกระตุ้นการลงทุน, มาตรการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดเอ็ม เอ ไอ, มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ พิเศษชายแดน 10 จังหวัด และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากบางเรื่องเป็นมาตรการที่บีโอไอใช้ต่อเนื่องมานาน จึงต้องปรับปรุงรายละเอียดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้ง 4 เรื่องนี้บีโอไออยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอบอร์ดต่อไป

 

ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบหลายมาตรการเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเปิดส่งเสริมกิจการใหม่ ๆ เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรัยประเทศในอนาคต อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่ เพื่อสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตสำคัญของอุตสาหกรรม EV ในภูมิภาค หลังจากหมดระยะเวลาการยื่นคำขอรับการส่งเสริมไปตั้งแต่ปี 2561 มาตรการส่งเสริมการลงทุนรถ EV รอบใหม่นี้ ผ่านบอร์ดเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศ

 

สำหรับการเปิดส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่นี้จะขยายขอบข่ายกว้างขึ้นให้ครอบคลุมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า รวมทั้งสถานีชาร์จไฟและชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่ครบวงจรสำหรับ EV ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรม EV มีความคึกคักและมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น และสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตสำคัญของอุตสาหกรรม EV ในภูมิภาค

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“บีโอไอ” ชี้ทุนต่างชาติเชื่อมั่นไทยฟุ้ง 96% พร้อมลงทุน

บีโอไอร่วมผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางธุรกิจ Life Science

"บีโอไอ" ดันไทยศูนย์การการแพทย์อาเซียน

บีโอไอชี้จุดแข็งไทยไม่เป็นรอง มั่นใจ FDI ปี 64 ฟื้น

ม็อบยื้อกระทบ FDI ไหลเข้า ญี่ปุ่นขอคำตอบไทยร่วม CPTPP

สภาอุตแนะเพิ่มบทบาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนในไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันหลายด้าน เช่น ขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานสูงกว่ากลุ่ม CLMV ขณะที่ความตกลงการค้าเสรี(FTA) ไทยก็มีน้อยกว่าเพื่อนบ้านเช่นเวียดนาม ทำให้เม็ดเงินลงทุนในไทยนับวันลดลง ดังนั้นในการดึงการลงทุนคงต้องเน้นในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี และมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับแทนอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น ขณะที่บีโอไอต้องเพิ่มบทบาทนอกจากดึงการลงทุนในประเทศแล้ว ต้องทำงานเชิงรุกนำพาผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยให้นับเป็นผลงานในการส่งเสริมการลงทุนด้วย

 

บีโอไอจัดหนัก แพ็กเกจดูดลงทุนปี 64 ดันดิจิทัล-รถ EV-การแพทย์ แม่เหล็กใหม่

                                   เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งเตรียมการเจรจาหลาย FTA เช่น CPTPP, ไทย-สหภาพยุโรป และไทย-สหราชอาณาจักร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อยังจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุนไทยเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก จากปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอกับคู่ค้าน้อยมากเมื่อเทียบกับเวียดนามทำให้ทุนย้ายเข้าเวียดนามมากกว่าไทย

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 1 ฉบับที่ 3632 วันที่ 3-5 ธันวาคม พ.ศ.2563