บอร์ดรฟม.ไฟเขียว สร้างทางเชื่อม "ศูนย์สิริกิติ์" บูม MRT สายสีน้ำเงิน

27 พ.ย. 2563 | 15:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2563 | 17:53 น.
659

บอร์ดรฟม.เคาะสร้างทางเชื่อมศูนย์สิริกิติ์ ทะลุรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ลุยสร้างอุโมงค์ใต้ดินให้สิทธิสัมปทาน 15 ปี

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อกับสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้รับสัมปทานพัฒนาที่ดินศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จากกรมธนารักษ์ ได้เสนอโครงการให้ รฟม.พิจารณา โดยขอสร้างอุโมงค์ใต้ดินความยาวประมาณ 20 เมตรเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าเหมือนที่สถานีพระราม 9 ระยะเวลา 15 ปี จ่ายค่าเชื่อมให้ รฟม.วงเงิน 17 ล้านบาท. ขณะเดียวกันเอกชนได้ลงทุนร่วม 1 หมื่นล้านบาท ปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใหม่ ทราบว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อเพิ่มความสะดวกคนใช้บริการ จากเดิมจะต้องเดินออกจากสถานี ต่อไปจะเดินทะลุไปยังศูนย์การประชุมได้

นอกจากนี้เอกชนขอสร้างอุโมงค์ใต้ดินเชื่อมกับ 2 สถานีของสายสีน้ำเงิน อยู่ระหว่างออกแบบ ได้แก่ สถานีลุมพินีเชื่อมกับโครงการวัน แบงค็อก ระยะเวลา 15 ปี มีค่าธรรมเนียม 30 ล้านบาท และสถานีสีลมเชื่อมโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ระยะเวลา 15 ปี ค่าธรรมเนียม 30 ล้านบาท

สำหรับโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และวัน แบงค็อก เป็นธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางกรมธนารักษ์ได้ต่อสัญญาเช่าให้อีก 50 ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท ในขณะที่ให้ผลตอบแทนกรมธนารักษ์ จํานวน 18,998.60 ล้านบาท ส่วนโครงการ วัน แบงค็อก ดำเนินการโดยบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4 และถนนสุขุมวิท (โรงเรียนเตรียมทหารเดิม) ระยะเวลา 30 ปี ต่อได้อีก 30 ปี รวม 60 ปี ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มเฟรเซอร์ส พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่พื้นที่ก่อสร้างอาคารรวมกว่า 1.83 ล้าน ตร.ม. มูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท จะเปิดเฟสแรกในปี 2565. ด้านโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการมิกซ์ยูสของกลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ร่วมลงทุนกับโรงแรมดุสิตธานี มูลค่า 36,700 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน พื้นที่รวม 440,000 ตร.ม. บนที่ดินกว่า 23 ไร่ ตรงมุมถนนสีลม-พระราม 4