“คมนาคม” สั่งเบรกสร้างรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต

06 พ.ย. 2563 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2563 | 16:27 น.
3.9 k

“คมนาคม” พับแผนก่อสร้าง รถไฟฟ้ารางเบา หรือ "แทรม" ภูเก็ต วงเงิน 3.5 หมื่นล้าน สั่งรฟม.ปรับแบบการเดินรถเป็นรถเมล์ไฟฟ้า BRT หวังประหยัดงบก่อสร้างกว่าหมื่นล้านบาท จ่อชงครม.ไฟเขียวภายในปีนี้ คาดเปิดให้บริการปี 2569

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติ-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.)สัญจร ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับทราบ โดยขณะนี้ได้มอบให้ รฟม. ไปพิจารณาปรับรูปแบบระบบการเดินรถ เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศ ก็ปรับมาใช้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV) ล้อยางกันแล้ว ช่วยประหยัดค่าก่อสร้างได้หมื่นกว่าล้านบาท เพราะไม่ต้องทำระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ อีกทั้งยังเกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะค่าโดยสารจะถูกลงด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ รฟม. กำลังออกแบบรายละเอียดโครงการยังสามารถปรับปรุงได้ และในร่างเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ก็ไม่ได้ปิดกั้นว่าจะต้องเป็นแทรมเท่านั้น ดังนั้นเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ก็ควรเปลี่ยนการเดินรถในรูปแบบเดิมๆ ที่มีราคาแพง และความคุ้มค่าน้อย เพราะจากการดูผลการศึกษาล่าสุด ก็พบว่ามีผู้ใช้บริการเพียงแค่ประมาณ 3.9 หมื่นคนต่อวัน อย่างไรก็ตามการปรับรูปแบบระบบการเดินรถดังกล่าว น่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นานว่าจะเลือกใช้รูปแบบใดแทนแทรม เบื้องต้นน่าจะเป็นรูปแบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) แต่เป็นแบบไฟฟ้า วิ่งตามแนวเกาะกลางถนน โดยคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบได้ภายในปี 2563 และมีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2569 

 

“การใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่ง รฟม. ได้หารือกับกรมทางหลวง (ทล.) แล้ว ซึ่งการดำเนินการจะรื้อเกาะกลางออก ทำผิวจราจรใหม่ และใช้แบริเออร์กั้นระหว่างเลนของรถเมล์บีอาร์ที และรถยนต์ทั่วไป แต่สิ่งที่ รฟม. ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ การสร้างสถานีที่จะให้ผู้โดยสารเข้าไปใช้บริการ ต้องมีการปรับแบบเพิ่มเติมหรือไม่ และบางแห่งยังสามารถนำพื้นที่ใช้เป็นเชิงพาณิชย์ได้ด้วย นอกจากนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าเมื่อรถถึงทางแยก จะต้องปรับเป็นแบบใด เช่น ทำเป็นอุโมงค์ลอด หรือหากจะให้ประหยัดเงินมากขึ้น ก็ควรใช้เพียงแค่การบริหารสัญญาณไฟจราจร ซึ่งต้องให้รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) ไปก่อน”

ทั้งนี้เรื่องเส้นทางเดินรถ และจำนวนสถานีนั้น ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีระยะทางประมาณ 42 กม. และมี 21 สถานี อย่างไรก็ตามในอนาคตยังมีแผนจะให้โครงการนี้เชื่อมกับรถไฟที่จะไปพังงาที่บริเวณท่าอากาศยานภูเก็ตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไป จังหวัดพังงา มีระยะทางประมาณ 4 กม.

 

สำหรับแนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติ-ห้าแยกฉลอง  เริ่มจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปตามทางหลวงหมายเลข 4031 (แยกศาลาแดง-แยกหมากปรก) เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4036 (แยกเหนือคลอง-แหลมกรวด) เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402 (โคกกลอย-เมืองภูเก็ต) เพื่อเข้าเมืองภูเก็ต จากนั้นผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร ข้ามสะพานสารสิน มุ่งหน้าสถานีปลายทางท่าเรือฉลอง

 

อ่านข่าว อัปเดต "แทรมโคราช" ถึงไหนแล้ว

อ่านข่าว “คมนาคม” ผุดโมเดลฝรั่งเศส บูมแทรมภูเก็ต