“ซีพี”-“สหพัฒน” ตบเท้าร่วม “ส.อ.ท.” จ่ายเงิน SMEs ใน 30 วัน

05 ต.ค. 2563 | 16:00 น.

"ส.อ.ท." จับมือ 100 บริษัทเอกชนเร่งอัดฉีดสภาพคล่องให้เครดิตเทอม "เอสเอ็มอี" ใน 30 วัน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ดำเนินการออกมาตรการเร่งอัดฉีดสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีได้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ด้วย F.T.I.Faster Payment : ส.อ.ท.ช่วยเศรษฐกิจไทย นำร่องจากบริษัทภายใต้การบริหารงานของกรรมการบริหาร ส.อ.ท.ชุดวาระปี 2563-2565 ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 100 บริษัท มียอดขายกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) เข้าร่วมโครงการ ด้วยการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าภายใน 30 วัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ส่วนจะขยายระยะเวลามาตรการออกไปอีกหรือไม่นั้น จะขอดูมาตรการรัฐที่ออกมาช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจฟื้นดีหรือไม่ และบริษัทเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไรบ้าง ติดขัดอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จะพิจารณาขยายมาตรการต่อออกไปได้อีก

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าเอสเอ็มอีได้รับประโยชน์รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ผู้ที่เกี่ยวข้องวงการเอสเอ็มอีรวมกว่า 10 ล้านคน  โดยต้องการฝากภาคบริการและภาครัฐจ่ายเงินภายใน 30 วันจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย  จากเดิมซึ่งตามปกติภาครัฐกว่าจะจ่ายเงินต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 90 วัน  โดยน่าจะมีบทลงโทษกับหน่วยงานภาครัฐภาครัฐที่ไม่จ่ายตามระยะเวลาด้วยภายใต้เงื่อนไขว่าหากได้มีการทำข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมองว่าภาครัฐไม่ควรนำภาษีของประชาชนไปดองไว้  

“ซีพี”-“สหพัฒน” ตบเท้าร่วม “ส.อ.ท.” จ่ายเงิน SMEs ใน 30 วัน

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วน หลายธุรกิจประสบปัญหายอดขายลดลงและขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมีระยะเวลาในการรับชำระเงินจากการขายสินค้าช้ากว่าปกติ โดยภาคเอกชนยังต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจผลักดันและกำหนดให้มีเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าภายใน 30 วันเช่นกัน และควรกำหนดบทลงโทษหน่วยงานที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนนำมาชำระได้อยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจวิจัยของ ส.อ.ท.พบว่าระยะเวลาเครดิตเทอมปี 2559 มีระยะเวลาจ่ายเงินชำระค่าสินค้าในช่วง 30-45 วัน แต่ปีนี้พบว่าระยะเวลาเครดิตเทอมเพิ่มขึ้นกว่าจะจ่ายเงินระยะเวลาจะอยู่ที่ 60-120 วัน ซึ่งในการทำธุรกิจการค้านั้น ปกติแล้ว 96% ซื้อขายสินค้ากันด้วยสินเชื่อจากซัพพลายเออร์ การลดระยะเวลา เครดิตเทอมที่สัั้นลง จะช่วยให้เอสเอ็มอี มีสภาพคล่องและอยู่รอดได้ในช่วงโควิด-19

บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 100 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ,บมจ.ซีพี ออลล์ ,บมจ.สยามแม็คโคร ,บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ,บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ,บมจ.สหพัฒนพิบูล ,บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ,บมจ.ปตท. ,บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น ,บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ,บจ.เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท ,บจ.บางกอกคริสตัล ,บจ.แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ

,บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ,บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด ,บมจ.ทีบีเอสพี บมจ.ที.เค.เอส เทคโนโลยี ,บมจ.ไทยซัมมิท ฮาร์เนส ,บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ,บมจ.อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) ,บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น ,บมจ.ปัญจวัฒนา พลาสติก ,บจ.สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล ,บจ.ควอลิตี้ แมชชีนทูล ,บจ.ทักษิณปาล์ม (2521) เป็นต้น

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าว่า ซีพีออลล์ มีเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้าอยู่ประมาณ 4,000 ราย  โดยบริษัทเองพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวของ ส.อ.ท.

นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (CPF) กล่าวว่า การจัดซื้อส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบประเภทเครื่องปรุง  และผลิตภัณฑ์ นอกจากจะสนับสนุนเรื่องการจ่ายเงินภายใน 30 วันแล้ว  ยังมองว่าน่าจะสนับสนุนการพัฒนาเอสเอ็มอีกลุ่มดังกล่าวให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน  โดยการนำเทคโนโลยี และอุปกรณ์สมัยใหม่เข้าไปช่วยเหลือ

นางศิริพร เดชสิงห์  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบรัททำงานร่วมกับเอสเอ็มอี 2 ส่วน ได้แก่ 1.คู่ค้า ที่บริษัทซื้อสินค้า หรือซัพพายเอออร์ โดยส่วนใหญ่จะจ่ายเงินภายใน 30 วัน  ซึ่งเป็นนโยบายที่ยึดมั่นมาโดยตลอดและจะทำต่อไป  และ2.ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ  ซึ่งก็เป็นเอสเอ็มอี  บริษัทเองมีโครงการมากมายเพื่อช่วยให้สามารถปรับตัวได้ในช่วงโควิด-19

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีการซื้อผลทางการเกษตรจากเอสเอ็มอีประมาณ 3,000 ราย เพื่อนำมาผลิตเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยเอสเอ็มอีจะต้องได้รับเงินภายใน 30 วัน  เพื่อช่วยสนับสนุนสภาพคล่องในช่วงโควิด-19

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถือว่าดีอย่างมาก  โดยจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเร็วขึ้น ซึ่งหากเงินขาดก็จะมีผลทำให้ระบบเศรษบกิจแย่ลงไปมากกว่านี้  โดยการให้เงินปันผลเร็วขึ้นก็จะมีส่วนช่วยใหญ่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น  ซึ่งบางจากเองก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบาย