ลุยเฟส2 อัพขนส่งสินค้าเชียงราย เชื่อม รถไฟทางคู่ “เด่นชัย-เชียงของ”

27 ก.ย. 2563 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2563 | 18:16 น.
2.2 k

กรมขนส่ง พร้อมลุย เฟส 2 อัพ ศูนย์รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ต่อ เนื่อง  เร่งถก รฟท.ปรับแบบเชื่อมทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ  หลังเฟสแรก สร้างคืบ 90%   เปิดให้บริการกลางปี64 ดึงเอกชนร่วมทุนพีพีพี 15 ปี    

 

 

 

               

 

 

กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น สำหรับคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของอยู่บนเนื้อที่ 336 ไร่ มูลค่ารวม 2,139 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินก่อสร้าง 1,360 ล้านบาท และ วงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 779 ล้านบาท อย่างไรก็ตามปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างระยะที่ 1 คืบหน้ากว่า 90% แล้วเสร็จปลายปี 2563  เบื้องต้น  ขบ. จะเข้าบริหารศูนย์ดังกล่าวก่อน  เนื่องจากปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าผลไม้ เป็นจำนวนมาก มา รวมไว้บริเวณนี้ ขณะเดียวกัน  ยังเตรียมแผนลงทุนโครงการเฟส2 ยกระดับ เป็นศูนย์ ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รองรับ รถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีแผน ประมูลกลางปีหน้า     

 

นางสาวรัตนา อิทธิอมร ผู้อำนวยการสำนักการขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า การลงทุนศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ เฟส 2  อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหลังจากรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สร้างแล้วเสร็จ ซึ่งใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 2-3 ปี ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าขาเข้า-ออก อาคาร CFS หลังที่ 2 อาคารสำนักงานฝ่ายปฏิบัติการ ลานกองตู้คอนเทนเนอร์ โรงอาหารส่วนปฏิบัติงาน อาคารซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล อาคารเอกซเรย์และอาคาร CCA หากสร้างแล้วเสร็จสามารถรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 440,000 TEU

                “ขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการปรับแบบโครงการฯในเฟส 2 เพื่อเชื่อมโยงกับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ล่าสุดกรมฯได้หารือเกี่ยวกับรายละเอียดการปรับแบบกับรฟท.แล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรฟท.ว่าจะเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินได้เมื่อไร ซึ่งปัจจุบันคาดว่ารฟท.อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ เพื่อดำเนินการขอออกพ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน หากรฟท.เริ่มสำรวจพื้นที่เวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ ทางกรมฯจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเฟส 2 ทันที”

 

 

                ลุยเฟส2 อัพขนส่งสินค้าเชียงราย เชื่อม รถไฟทางคู่ “เด่นชัย-เชียงของ”

 

 

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย พื้นที่ 336 ไร่ เฟสแรก นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จราว 94-95% คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะเปิดประมูลบริหารโครงการฯ ราวกลางปี 64 ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างราว 2-3 เดือน คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างภายในสิ้นปี 64 สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 270,000 TEU

                สำหรับการลงทุนในโครงการฯ จะลงทุนในรูปแบบพีพีพี เน็ตคอส โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดินและค่าก่อสร้างโครงการทั้งหมด ขณะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมทั้งรับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการฯ (O&M) รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 15 ปี นับจากที่เปิดให้บริการ ทั้งนี้ปัจจุบันได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินแล้วราว 100 ไร่ ส่วนอีก 200 ไร่ จะเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินในเฟส 2

                ทั้งนี้พื้นที่ในโครงการฯ ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าศุลกากร อาคารหอพัก อาคารคลังสินค้าทัณฑ์บน อาคารบริหารส่วนกลาง ลานจอดรถแลการเปลี่ยนหัวลาก-หางพ่วง โรงอาหารส่วนบริหารงานกลาง อาคารซ่อมบำรุง และอาคาร CFS หลังที่ 1 ขณะเดียวกันการออกแบบโครงการฯจะเป็นพื้นที่สำหรับการรวบรวมและกระจายสินค้า ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกแบบไม่เต็มคันและรถเที่ยวเปล่า ทั้งนี้เป็นที่ทำการของหน่วยงานตรวจปล่อยสินค้า (CIQ) สามารถให้บริการตรวจปล่อยสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ซึ่งรองรับการเปลี่ยนหัวลาก-หางพ่วงระหว่างรถบรรทุกไทยกับรถบรรทุกต่างประเทศ รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจากทางถนนสู่ทางราง ผ่านแนวรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

 

 

 

 

 “ขณะนี้เรามีการเชิญชวนผู้ประกอบการขนส่งสินค้ามาใช้บริการ เพราะในอนาคตจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขส่งสินค้ามาก อาทิ ลานจอดรถ ที่พักของคนขับ ซึ่งจะอยู่ในศูนย์ทั้งหมด หากได้ตัวผู้รับจ้างที่มีศักยภาพเข้ามาบริหารงานเชือว่าจะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิการขนส่งในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้เราคาดการณ์ในระยะแรกจะมีปริมาณรถขนส่งสินค้าที่มาใช้บริการราว 200 คันต่อวัน โดยเฉพาะรถขนส่งสินค้าหลักอย่างผักและผลไม้”

                 หน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3613