ลุยพัฒนา 6 เส้นทางรถไฟฟ้า ลดก๊าซเรือนกระจก

09 ส.ค. 2563 | 11:23 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2563 | 18:43 น.
4.8 k

สนข.เดินหน้าพัฒนาระบบรถไฟฟ้า 6 เส้นทาง หวังลดก๊าซเรือนกระจก ขณะที่สำรวจเส้นทางรถไฟฟ้า พบ 59% ประชาชนไม่ใช้รถไฟฟ้า เหตุเดินทางต่อหลายระบบ วอนรัฐลดค่าตั๋วโดยสารดันรถไฟฟ้าฟีดเดอร์เชื่อมระบบขนส่งต่อเนื่อง

นางวิไลรัตน์   ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยในฐานะประธานเปิดสัมมนาเพื่อเผยแพร่โครงการ ครั้งที่ 2 การศึกษาและรับฟังความคิดเห็น โครงการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ว่า  ขณะนี้ที่ปรึกษาได้เสนอผลดำเนินโครงการการประเมินพลังงานที่ลดได้ด้วยการติดตามประเมินจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ได้แก่ 1.สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สำโรง 2.สายสีเขียว ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ  3.สายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า 4.สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 5.รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และ 6.สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน

 

นางวิไลรัตน์  กล่าวต่อว่า จากการดำเนินโครงการภายใต้แผนการดำเนินงานของโครงการ ระยะเวลา 12 เดือน พบว่าผลการประเมินพลังงานที่ลดได้ด้วยการติดตามประเมิน (Tracking) ที่สามารถตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification : MRV) ในปี 2563 โดยใช้มาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน สามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 224.3 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) หากดำเนินการทุกเส้นทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแผนแม่บท M-Map จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 1,375.5 ktoe ในปี พ.ศ. 2579 และหากเปรียบเทียบกับแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 2579 (EEP 2015) ที่คาดการณ์ไว้ที่ 4,823 ktoe ถือว่าผลที่ประเมินได้ค่อนข้างแตกต่างกัน สำหรับการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ ด้วยการติดตามประเมิน (Tracking) ที่สามารถ MRV ได้ พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 มาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.64 MtCO2e

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ อาจารย์วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะรองผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ได้สำรวจพื้นที่ให้บริการรถไฟฟ้าที่เปิดบริการ 6 เส้นทาง และเส้นทางก่อนเปิดดำเนินการ 2 เส้นทาง    ได้แก่ 1.สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และ 2.สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยสำรวจเส้นทางละ 500 ตัวอย่าง พบว่า ช่วงอายุ 23-29 ปี (วัยทำงาน) มีรายได้ 15,001-30,000 บาท ใช้บริการอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ในชม.เร่งด่วน ไป-กลับ จากทำธุระและที่ทำงาน คิดเป็น 32% ขณะที่ช่วงอายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ 22 ปี (นักเรียน/นักศึกษา) รายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ใช้บริการทุกวันในชม.เร่งด่วน ไป-กลับ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย คิดเป็น 31% เหตุผลที่เลือกใช้รถไฟฟ้าเมื่อเทียบกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ พบว่า ประหยัดเวลา 63% ควบคุมเวลาเดินทางได้ 19% ประหยัดค่าเดินทาง 8% สะดวกกว่าใช้ขนส่งสาธารณะอื่นๆ 6% และ ปลอดภัย 4%

ลุยพัฒนา 6 เส้นทางรถไฟฟ้า ลดก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่เลือกใช้รถไฟฟ้าพบว่าไม่ถึงจุดหมายปลายทางด้วยระบบเดียวหรือต้องเดินทางต่อหลายระบบ 59%  ราคาสูง 18% ไม่ชอบคนหนาแน่น 7% เข้าถึงระบบไม่ดีหรือไม่สะดวก 6% และไม่มีระบบเชื่อมต่อรอง (ฟีดเดอร์) เข้าถึงระบบรถไฟฟ้า 4% 

ลุยพัฒนา 6 เส้นทางรถไฟฟ้า ลดก๊าซเรือนกระจก

“รัฐควรมีนโยบายช่วยลดค่าใช้จ่าย จัดระบบขนส่งรอง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า (ฟีดเดอร์) เช่น รถเมล์ ให้เดินทางสะดวก ส่งเสริมใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดใช้พลังงานและก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตามนำความคิดเห็นผู้รับร่วมสัมมนาครั้งนี้มาปรับปรุงผลการศึกษาให้สมบูรณ์ ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงานต่อไป”