“พพ.” เตรียมนำ 26 ผลงานไทยด้านพลังงานสู่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ

13 ก.ค. 2563 | 17:00 น.

“พพ.” เตรียมนำ 26 ผลงานไทยด้านพลังงานสู่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ หวังลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

นายโกมล บัวเกตุ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ “พพ.” เปิดเผยว่า พพ. ได้ดำเนินโครงการประกวดการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.0 โดยเป็นเวทีการปรระกวดเพื่อนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญคนไทยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดเผยแพร่สู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่างๆ ต่อไป

                โดยการประกวดฯนี้ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากถึง 185 ผลงาน แบ่งเป็น ประเภทบุคคลทั่วไป 90 ผลงาน ประเภทหน่วยงาน 95 ผลงาน ซี่งมีผลงานที่ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 26 รางวัล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

                1.รางวัลนวัตกรรมการจัดการพลังงานดีเด่น จำนวน 10 รางวัล แบ่งเป็นประเภทบุคคล 5 รางวัล ประเภทหน่วยงาน 5 รางวัล เงินรางวัลรวม 1 ล้านบาท โดยรางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลได้แก่ ผลงาน “เรือไฟฟ้าพลังงานสะอาด (แสงอาทิตย์และลม)” ของนายสุวรรณ พิทักษ์สินธร และรางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงาน ได้แก่ ผลงาน “Automated Fault Detection and Diagnostics-Based AI and IoT Platform for a Chiller Air-Conditioning System” ของบริษัท ทีไออี สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด

“พพ.” เตรียมนำ 26 ผลงานไทยด้านพลังงานสู่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ

                2.รางวัลพิเศษ ได้แก่ “รางวัลนวัตกรรมการจัดการพลังงานดีเด่นด้วยเทคโนโลยี 4.0” “รางวัลนวัตกรรมที่น่าสนใจเป็นพิเศษ” และ “รางวัลผลงานนวัตกรรมสร้างแรงบันดาลใจ”  รวมจำนวน 16 รางวัล ซึ่งจะได้รับ โล่ และใบประกาศเกียรติคุณ
ทั้งนี้ การพิจารณาตัดสิน พพ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงานในสาขาต่างๆ จำนวน 16 ท่าน  เพื่อร่วมพิจารณาตัดสินคัดเลือกผลงาน โดยเกณฑ์การตัดสินแบ่งเป็น 2 หมวด คือ

หมวด ก. การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น พิจารณาจากนวัตกรรมมีความเป็นไปได้และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างแพร่หลายได้หรือไม่  และหมวด ข. พิจารณาตามเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อ คือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์, ความเป็นไปได้เชิงเทคนิค, ผลการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน, ความคุ้มค่าในการลงทุน, และ ความสามารถในการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย

                “โครงการนี้นับว่าประสบความสำเร็จกว่าเป้าหมายที่วางไว้ สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่างๆ ได้ให้ความสำคัญและตื่นตัวต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยเห็นได้จากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ พพ. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆที่ได้รับรางวัล เมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานของท่าน จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในสถานประกอบการของท่านได้ นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างความตื่นตัวในการคิดค้น วิจัย และพัฒนาการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่องานด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนของประเทศได้เป็นอย่างดีอีกด้วย”