“ศักดิ์สยาม” เตรียมสแกนความพร้อม ถ.พระราม2 ลุยสร้างทางยกระดับ

28 มิ.ย. 2563 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2563 | 16:22 น.
2.2 k

“ศักดิ์สยาม” สั่ง ทล.เตรียมความพร้อม สร้างถนนพระราม 2 หวั่นทำรถติด พร้อมลงพื้นที่ฟังความเห็นประชาชนต่อเนื่อง หวังสร้างทางยกระดับพระราม 3– ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก กรุงเทพฯ คาดแล้วเสร็จปี 2565

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ช่วงตั้งแต่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนถึงบริเวณถนนเอกชัย กม.11-กม.20 ระยะทางประมาณ 8.3 กิโลเมตรว่า  สำหรับการประชุมดังกล่าวเพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่จะมีการเข้าพื้นที่งานก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการจราจรระหว่างก่อสร้าง  เบื้องต้น ได้สั่งให้กรมทางหลวง (ทล.) ไปดำเนินการทำความเข้าใจ เกี่ยวกับงานก่อสร้างกับประชาชนในพื้นที่ และในวันที่ 29 มิถุนายน 2563 นี้ พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมจะลงพื้นที่ ไปรับฟังความเห็นของประชาชนต่อการจัดการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง และติดตามความพร้อมของการก่อสร้าง ก่อนที่จะเข้าพื้นที่โครงการทางยกระดับพระราม 3 ก่อนที่ ทล.จะมีการเข้าพื้นที่จริงหลังวันที่ 8 กรกฎาคม 2563

 

อ่านข่าว เลื่อนเบี่ยงจราจร ถนนพระราม 2 ลุยสร้างพระราม3-ดาวคะนอง

อ่านข่าว ถนนพระราม 2 วิ่งฉิวก่อนสงกรานต์

อ่านข่าว ”คมนาคม” ถก ทล. ลุย 5 เมกะโปรเจ็กต์

ขณะเดียวกันการนำเครื่องจักรเข้าก่อสร้างในพื้นที่นั้น จะต้องเป็นการปิดพื้นผิวจราจรเฉพาะที่มีงานก่อสร้างจริงเท่านั้น โดยจะไม่มีการปิดถนนทั้งที่งานก่อสร้างยังไม่เกิดขึ้นเหมือนในอดีต โดยในวันที่ 29 มิ.ย.นี้  ทั้งนี้จะลงพื้นที่ก่อนที่ ทล. จะเข้าพื้นที่ก่อสร้าง 8 ก.ค. 63 เป็นต้นไป โดยการก่อสร้างจะเริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 14-15 และ 18-20 บนถนนพระรามที่ 2 หรือมีลักษณะเป็นการเข้าพื้นที่หัว-ท้าย และให้การก่อสร้างทยอยดำเนินการทีละ 1-2 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างแต่ละกิโลเมตรไม่เกิน 1 ปี โดยจะทยอยไล่ดำเนินการไปเมื่องานก่อสร้างในแต่ละส่วนแล้วเสร็จ  คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ส.ค.65

“เรายืนยันในการดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้น ในส่วนของทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) จะต้องเหลือช่องจราจร ให้ประชาชนใช้สัญจรไม่น้อยกว่า 12 ช่องจราจร (ไป-กลับ) หรือทางหลักและทางคู่ขนาน ฝั่งละ 6 ช่องจราจร  ทั้งนี้ ในการดำเนินการระหว่างการก่อสร้างกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะต้องมีการประชาสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการขึ้นป้ายบอกตารางงานก่อสร้างในแต่ละช่วงให้ชัดเจน และบอกถึงสภาพการจราจรในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจที่จะใช้ หรือเลี่ยงเส้นทางได้ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยลดผลกระทบการจราจรติดขัดระหว่างงานก่อสร้างได้มากที่สุด”