เร่งสร้าง "รถไฟทางคู่ลพบุรี-ปากน้ำโพ" ฝ่าโควิด

08 พ.ค. 2563 | 16:40 น.
813

รฟท.เผยคืบหน้าสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เร็วกว่าแผนงานที่กำหนดราว 40% มั่นใจรองรับขบวนรถไฟเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 เท่า

 

 

เร่งสร้าง \"รถไฟทางคู่ลพบุรี-ปากน้ำโพ\" ฝ่าโควิด

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่เข้ารับหน้าที่ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเกี่ยวข้องดำเนินงานแผนงานต่าง ๆ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟฯ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่สำคัญ รวมไปถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ เป็นอีกหนึ่งในโครงการที่จะสนับสนุนโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งสินค้าและบริการทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เร่งสร้าง \"รถไฟทางคู่ลพบุรี-ปากน้ำโพ\" ฝ่าโควิด

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายเหนือ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ มีระยะทาง 145 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี งบประมาณก่อสร้าง จำนวน 21,467 ล้านบาท ประกอบด้วยงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ จำนวน 2 สัญญา และงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม สำหรับความคืบหน้าภาพรวมทั้งหมดของโครงการตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างจนถึงเดือนเมษายน 2563 มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ร้อยละ 40.06 จากแผนงานที่กำหนดไว้ 35.94 ซึ่งสร้างเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ ถึงร้อยละ 4.28

 

เร่งสร้าง \"รถไฟทางคู่ลพบุรี-ปากน้ำโพ\" ฝ่าโควิด ขณะเดียวกันได้มีการปรับแผนงานการก่อสร้างให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างจริง เพื่อลดผลกระทบและให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันได้เร่งรัดงานโยธาและงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้แล้วเสร็จตามแผนงานในปี 2566 โดยงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ แบ่งออกเป็น 2 สัญญา ได้แก่

1. ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 (บ้านกลับ – โคกกระเทียม) เริ่มต้นที่บริเวณสถานีบ้านกลับ จังหวัดสระบุรี เป็นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเลี่ยงเมืองลพบุรี โดยใช้พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 366 และพื้นที่เวนคืนในการก่อสร้าง และสิ้นสุดบริเวณสถานีโคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี ระยะทางรวม 29 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางรถไฟยกระดับ 23 กิโลเมตร และทางรถไฟระดับพื้นดิน 6 กิโลเมตร โดยมีการปรับปรุงสถานีรถไฟเดิม 1 สถานี และก่อสร้างสถานียกระดับใหม่ 1 สถานี ซึ่งมีค่าก่อสร้าง 10,050 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน เริ่มก่อสร้างวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ความคืบหน้าผลการดำเนินงานจากแผนงานกำหนดไว้ ร้อยละ 15.02 ความคืบหน้าผลงาน ร้อยละ 23.42 เร็วกว่าแผนงานถึงร้อยละ 8.40 โดยมี กิจการร่วมค้า ยูเอ็น-เอสเอชและ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน

 

2. ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 (ท่าแค – ปากน้ำโพ) ระยะทาง 116 กิโลเมตร เริ่มต้นที่บริเวณสถานีท่าแค จังหวัดลพบุรี โดยก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม สิ้นสุดบริเวณสถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ระยะทาง ประมาณ 116 กิโลเมตร โดยมีงานก่อสร้างสถานีใหม่ 8 สถานี งานปรับปรุงสถานีเดิม 10 สถานี งานก่อสร้างย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า(CY) 1 แห่ง และงานก่อสร้างอาคารศูนย์ควบคุมการเดินรถ(CTC) 1 แห่ง ซึ่งมีค่าก่อสร้าง 8,649 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน เริ่มก่อสร้างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ความคืบหน้าผลการดำเนินงานจากแผนงานที่กำหนดไว้ ร้อยละ 56.87 ความคืบหน้าผลงาน ร้อยละ 56.71 ล่าช้ากว่าแผนงาน ร้อยละ 0.16 โดยมี บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน

 

 

 

 

ส่วนความคืบหน้าโครงการจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ งบประมาณการก่อสร้าง 2,768 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน โดยได้ลงนามว่าจ้างกิจการร่วมค้า บีที - ยูเอ็น ประกอบด้วย บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 สำหรับความคืบหน้าขณะนี้ได้มีการลงสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม

 

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบรางภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ที่รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่ง ช่วยเสริมสร้างโครงข่ายคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตามหากโครงการแล้วเสร็จมั่นใจว่าจะสามารถพลิกโฉมการขนส่งทางรถไฟได้อย่างแน่นอน เพราะจะทำให้มีความจุของทางรถไฟเพิ่ม สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว ลดระยะเวลาการเดินทาง มีความตรงต่อเวลาของขบวนรถ เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้า บริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ.