ประมูลปีหน้ารถไฟหนองคาย-แหลมฉบัง

19 ก.พ. 2563 | 18:41 น.
1.1 k

ร.ฟ.ท. นัดเอกชนหารือ โครงการรถไฟหนองคาย-แหลมฉบัง หลังร่วมลงทุนแบบ PPP คาดเริ่มประมูลเร็วสุดปี 64

 

 

 

 

 

 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟ (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า (เส้นทางหนองคาย - แหลมฉบัง) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นโครงการศึกษาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยให้เอกชนร่วมพัฒนาระบบเดินรถด้วยไฟฟ้า (Rail Electrification) และบริการจัดการขนส่งสินค้าทางรถไฟเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง มูลค่าลงทุน 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ปี  2564 ให้บริการจริงปี  2569 “การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการขนส่งสินค้าด้วยระบบราง จึงได้จัดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ต่อโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า (เส้นทางหนองคาย แหลมฉบัง)เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของการศึกษาโครงการให้หน่วยงานธุรกิจภาคเอกชน

ประมูลปีหน้ารถไฟหนองคาย-แหลมฉบัง

พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนต่อการศึกษาโครงการ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดการดําเนินงานโครงการในภาพรวมการรถไฟฯ ได้มีโครงการที่จะเปลี่ยนจากการใช้รถจักรดีเซล (Diesel Electric Locomotive) และรถดีเซลราง (Diesel Multiple Unit: DMU) ในปัจจุบัน ไปเป็นรถจักรไฟฟ้าและ Electric Multiple Unit (EMU) เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้า โดยได้ทําการศึกษาความเหมาะสมการเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางคู่ 4 เส้นทาง  เมื่อปี 2554 ทั้งนี้ ผลการศึกษาได้เสนอแนะว่า การเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเหมาะสมในการพัฒนามากที่สุด เพื่อลดภาระการลงทุนในส่วนของการรถไฟฯ ที่จะต้องเป็นผู้รับภาระเอง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การขนส่งทางราง ให้สามารถพัฒนาเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ การรถไฟฯ จึงดําเนินการศึกษาการให้เอกชนเข้ามามี ส่วนร่วมในการลงทุนและให้บริการขนส่งสินค้า ในเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง (ระยะทางรวมประมาณ 683 กิโลเมตร) มูลค่าการลงทุนระยะ เริ่มแรกประมาณ 26,400 ล้านบาท (30,000 ล้านบาท ตลอดโครงการ) แบ่งเป็น ภาครัฐลงทุนระบบ OCS (Overhead Catenary System) ในขณะที่ภาคเอกชนลงทุนรถจักรไฟฟ้า รถบรรทุกสินค้า(แคร่) และอู่จอด และซ่อมบํารุง รวมทั้ง การพัฒนาระบบรางเพิ่มเติม (ถ้ามี)

 

ประมูลปีหน้ารถไฟหนองคาย-แหลมฉบัง

นายวรวุฒิฯ กล่าวต่อว่า จากผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางการเงิน (Financial Feasibility) สามารถสรุปได้ว่า การรถไฟฯ ควรเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนในงานโครงสร้างพื้นฐานของระบบเดินรถด้วยไฟฟ้า ในขณะที่ภาคเอกชนผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนในขบวนรถ และงานอู่จอดและซ่อมบำรุง รวมถึงเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรูปแบบการร่วมลงทุน PPP Net Cost ซึ่งจะให้ผลประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และสามารถพัฒนาการขับเคลื่อนการขนส่งทางราง โครงการนี้สามารถให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 22 โดยการรถไฟฯ จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาทางคู่เป็นระบบไฟฟ้าเพื่อการเดินรถในอนาคต และได้รับผลตอบแทนจากเอกชนตามสัญญา นอกจากนั้น โครงการนี้จะช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดเวลาในการขนส่ง และเพิ่มสัดส่วนในการขนส่งทางรางสูงขึ้น ตามนโยบายหลัก ของกระทรวงคมนาคม ดังนั้น หากโครงการได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) แล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้เร็วที่สุดต้นปี 2564 และจะเปิดให้บริการปี 2569 โดยระยะเวลาของสัญญา ร่วมลงทุน ไม่น้อยกว่า 30 ปี ด้วยรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ซึ่งจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการขนส่งระบบรางของประเทศได้เป็นอย่างดี