พาณิชดึง “ตั้งงี่สุน" ค้าส่งอุดรฯเข้าร่วมธงฟ้า ลดราคาสินค้า 15-20% ต่ำกว่าราคาตลาด

09 พ.ค. 2560 | 14:48 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2560 | 21:48 น.
1.0 k
 

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าพัฒนายกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกแบบเข้มข้นทั่วประเทศ เช่น บริษัท ตั้งงี่สุน ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด  จังหวัดอุดรธานีหรือเดิมเป็นห้างตั้งงี่สุน ประกอบธุรกิจการค้าส่งค้าปลีกในจังหวัดอุดรธานี มีสินค้าจำหน่ายนับพันรายการ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ชูสโลแกน “ตั้งงี่สุน ร้านค้าของไทย ถูกใจ ถูกเงิน” ด้วยสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันอันยาวนานของตั้งงี่สุนกับบริษัทผู้ผลิตสินค้ารวมทั้ง Supplier ทำให้ตั้งงี่สุนสามารถสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้ในราคาพิเศษ ประกอบกับสถานที่จำหน่ายสินค้าของห้างเปิดรับลูกค้าด้วยบรรยากาศอย่างเป็นกันเองและราคาสินค้าถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 15-20 % โดยผู้ซื้อมีทั้งร้านค้าปลีกและผู้บริโภคโดยตรง รวมทั้งผู้ประกอบการค้าของประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว) นำรถปิ๊กอัพมีซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายใน สปป.ลาว เป็นประจำ และยังมีร้านค้าในเครือข่ายทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

สอดคล้องกับนายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้จัดการตั้งงี่สุน เปิดเผยว่า เดิมตั้งงี่สุน สมัยก่อตั้งครั้งแรกได้เปิดเป็นร้านเล็กๆ ขายสินค้าในราคายุติธรรมไม่หวังกำไรมากและได้ขยายกิจการเรื่อยมาจากรุ่นพ่อแม่มาสู่รุ่นลูก คุณพ่อเป็นคนซื่อสัตย์ คุณแม่เป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้พัฒนาตั้งงี่สุนขยายตัวเรื่อยมา แม้ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตของคนชุมชนเปลี่ยนแปลงไป มีห้างสรรพสินค้า ห้าง Modern Trade เกิดขึ้นมากมาย แต่ห้าง ตั้งงี่สุนไม่เคยมองว่าเป็นคู่แข่ง และถือโอกาสเรียนรู้จาก Modern Trade มาปรับปรุงและพัฒนากิจการของตนเอง สร้างความเป็นตัวตนของตั้งงี่สุน ไม่ได้ทำตาม Modern Trade ทุกอย่าง แต่มองเห็นว่าการพัฒนา เป็นเรื่องดี โดยจุดเด่นของตั้งงี่สุนคือ“จำหน่ายสินค้าราคายุติธรรม” ขณะนี้ตั้งงี่สุนได้เข้าร่วมโครงการ “ธงฟ้าประชารัฐ” จำหน่ายสินค้าราคาต่ำกว่าท้องตลาด 15-20 % อีกด้วย

“ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจภูมิภาค เป็นกลไกสำคัญในการขยายตลาดไปสู่หมู่บ้านและชุมชน โดยแต่ละชุมชนจะจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่น กรณีอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวจะมีผู้ค้ามารวมตัวกันเป็นตลาดชุมชน มีการให้บริการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอีกทางหนึ่ง” นางอภิรดี กล่าว