*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,066 ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. - 1 ก.พ. 2568 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้เริ่มโอนเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้ว ตั้งแต่เวลา 02.34 น. ของวันที่ 27 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา จำนวน 3,025,596 ราย เป็นเงินประมาณ 30,255.96 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับเงินในรอบแรกนี้ กระทรวงการคลังจะดำเนินการจ่ายเงินซ้ำอีก 3 ครั้ง ในวันที่ 28 ก.พ. , 28 มี.ค. และ 28 เม.ย. 2568 หากพ้นกำหนดการจ่ายซ้ำครั้งที่ 3 แล้ว จะถือว่าผู้มีสิทธิไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ
*** แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการโอนเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ผ่านผู้สูงอายุว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฟสแรก ได้มอบเงิน 10,000 บาท ไปยังกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 14.5 ล้านคน ส่วนเฟส 2 แจกเงิน 10,000 บาท ให้กับผู้สูงอายุ จำนวน 3 ล้านคน ซึ่งจะเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจไทยอีกกว่า 30,000 ล้านบาท
*** พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลัง เชื่อว่า การแจกเงิน 10,000 บาท ครั้งนี้ ผู้สูงอายุอาจจะใช้เงินไปในสองส่วน คือส่วนแรกนำไปจับจ่ายใช้สอย ส่วนที่สอง คือ การนำไปต่อยอดทำธุรกิจ หรือนำไปซื้อของมาขาย ซึ่งรัฐบาลก็ชอบทั้งสองวิธี เพราะจะทำให้คนสูงวัยยังมีกิจกรรมและมีอาชีพที่ต้องทำต่อไป เชื่อว่าหลายคนก็คงไม่เอาเงินไปเก็บ และจะเร่งใช้จ่ายเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ และนอกจากโครงการนี้แล้ว รัฐบาลยังรัฐบาลเร่งรัดการลงทุน ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งจะการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ออกมาเป็นระยะ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อรอการลงทุน ซึ่งคาดว่า น่าจะทำให้เศรษฐกิจโตได้ไม่ต่ำกว่า 3%
*** เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ชี้ว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุครั้งนี้ จะผลักดันให้เศรษฐกิจโตได้เพิ่มอีก 0.1% โดยรัฐบาลคาดหวังว่า คนกลุ่มนี้จะทำให้เกิดกำลังการใช้จ่ายที่สูงเหมือนกับเฟสแรก ซึ่งจากนี้ไปรัฐบาลจะรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างรายได้เข้าประเทศทั้งในฤดูกาลท่องเที่ยว และนอกฤดูกาลท่องเที่ยว รวมทั้งตอนนี้ก็ยังมีอีกโครงการคือ คุณสู้เราช่วย ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่จะช่วยลดหนี้และเติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
*** จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ระบุว่า ก่อนหน้านี้หลังจากได้โอนเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบาง 1.45 แสนล้านบาท โอนเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละพัน 4-5 หมื่นล้านบาท การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Easy E-Receipt เพื่อให้ประชาชนมีเงินจากการใช้สอยให้กับร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษี/ใบรับ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt วงเงิน 50,000 บาท เริ่มตั้งแต่ 15 ม.ค.-28 ก.พ.2568 ขณะนีัการใช้จ่ายคึกคักน่าพอใจมาก เมื่อรวมเงินออกสู่ระบบ 7 หมื่นล้านบาท กับเงินผู้สูงอายุ 3 หมื่นล้านบาทในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้นับแสนล้านบาทในช่วงนี้
รมช.คลัง ยืนยันว่า ในไตรมาส 2 ปี 2568 เตรียมโอนเงินดิจิทัลวอเล็ต 10,000 บาท เฟส 3 ให้กับกลุ่มคนทำงานที่เหลืออีก 160,000 ล้านบาท โดยใช้เงินผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านระบบบล็อกเชน ตามเงื่อนไขเดิม รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะนี้ธนาคารต่างๆ ได้ร่วมทดสอบระบบให้มีความมั่นคง ปลอดภัย คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 นี้ เตรียมเปิดลงทะเบียน ในช่วง 2 เดือนข้างหน้า
*** โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ดำเนินการไปแล้ว 2 เฟส คือ เฟสแรก ให้แก่กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน เป็นเงิน 1.45 แสนล้านบาท เฟสสอง ให้แก่ผู้สูงอายุ จำนวนกว่า 3 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 30,255.96 ล้านบาท และจะดำเนินการแจก เฟส 3 ให้แก่วัยทำงานประมาณ 16 ล้านคน เป็นเงิน 1.6 แสนล้านบาท รวม 3 เฟส มีคนที่ได้รับเงินประมาณ 33.3 ล้านคน เป็นเงินกว่า 3.35 แสนล้านบาท ...เม็ดเงินจำนวนนี้ถือว่ามีส่วนทำให้ “เศรษฐกิจ” กระเตื้องได้พอสมควร ถึงแม้ยังจะมีความรู้สึกว่า “เศรษฐกิจไม่ดี” อยู่ก็ตาม...
*** ปิดท้าย วันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ “ท่านผู้มีสิทธิ” อย่าลืมออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) 76 จังหวัด และ เลือกนายก อบจ. อีก 47 จังหวัด (ผู้สมัครนายก อบจ. 192 คน) กันนะครับ ใครที่นอนหลับทับสิทธิ์ และไม่แจ้งเหตุผล จะต้องเสีย 6 สิทธิ ดังนี้ 1. สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา 2. สมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน 3. ลงชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง 5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และ 6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น ...หากใครไม่ไปใช้สิทธิ เลือกตั้ง อบจ. จะต้องเสีย 6 สิทธิดังกล่าว เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ดังนั้น อย่าลืม อย่าพลาด กันเด็ดขาด...