12 อุตฯ กลุ่มคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างป่วน เศรษฐกิจซบ-สินค้านอกแย่งตลาด

03 พ.ย. 2567 | 08:25 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2567 | 08:42 น.
876

ปัจจุบันมีอุตสาหกรรม หลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรงของคนไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ทำให้เสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดายในหลาย ๆ ด้านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

12 อุตฯ กลุ่มคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างป่วน เศรษฐกิจซบ-สินค้านอกแย่งตลาด

เฉพาะอย่างยิ่งจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่มาตรการรับมือของภาครัฐมีความล่าช้า ไม่ทันท่วงที เช่นเดียวกับคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมมากถึง 12 กลุ่ม กำลังเผชิญมรสุมในทุกด้าน

เกิดอะไรขึ้นกับคลัสเตอร์กลุ่มนี้ “นางบัญชุสา พุทธพรมงคล” ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด

คลัสเตอร์ก่อสร้างป่วน

นางบัญชุสา ฉายภาพคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ว่า ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่ แก้วและกระจก, แกรนิต, เคมี, เซรามิก, ปูนซีเมนต์, พลาสติก, ไฟฟ้าฯ, ไม้อัดไม้บาง, โรงเลื่อยและโรงอบไม้, เหล็ก, หลังคาและอุปกรณ์ และอลูมิเนียม และถ้าจะดูตามจำนวนรายในแต่ละกลุ่มสมาชิก กลุ่มใหญ่ได้แก่ ไฟฟ้าฯ พลาสติก เคมี และเหล็กตามลำดับ แต่หากนับตามสัดส่วนการใช้ในงานก่อสร้าง หรือยอดกลุ่มใหญ่จะเป็นซีเมนต์ เหล็ก เซรามิก และอลูมิเนียม

บัญชุสา พุทธพรมงคล ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 “เราเป็นคลัสเตอร์ที่มีความหลากหลาย มีผู้ประกอบการรายใหญ่เกือบ 60% อีก 40% เป็นเอสเอ็มอี โดยในแต่กลุ่มอาจจะมีส่วนสำคัญในเชิงซัพพลายเชนที่ต่างกัน ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า โดยคลัสเตอร์ก่อสร้างถือเป็นคลัสเตอร์สำคัญต่อปัจจัย 4 ของมนุษย์ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย และสิ่งปลูกสร้าง จึงมีส่วนสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจพอสมควร”

ถามว่าคลัสเตอร์กลุ่มนี้ต้องเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง นางบัญชุสา กล่าวว่า เป็นความท้าทายที่ครบทุกรสชาติ หวาน อม ขม กลืน นับตั้งแต่ Demand หรือความต้องการ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ทำให้การเติบโตของการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว

12 อุตฯ กลุ่มคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างป่วน เศรษฐกิจซบ-สินค้านอกแย่งตลาด

นอกจากนี้ยังพบปัญหาจากวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งที่ทำถูกกติกา และผิดกติกาในเรื่องของราคา และคุณภาพในวัสดุบางหมวด ซึ่งบางหมวดถือว่ามีความอันตรายต่อผู้บริโภค และเมื่อโฟกัสเรื่องของปัจจัยการผลิต ในกลุ่มวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ หลัก ๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกด้าน ทั้งแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนต่อต้นทุนสินค้ามากที่สุด และมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงพลังงาน ซึ่งปัจจุบันมีความผันผวนและราคาสูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งค่าไฟฟ้า และค่านํ้ามัน ทำให้ยิ่งยากต่อการบริหารการผลิต ต้นทุน และผลิตภาพที่ดี

ทิศทางปี 2568 ยังต้องลุ้น

สำหรับปี 2568 ทิศทางการดำเนินธุรกิจ กลุ่มวัสดุก่อสร้างจะไปในทิศทางใดนั้น หากมองในด้านอุปสงค์ ซึ่งหลักใหญ่มาจากภาครัฐกว่าครึ่งและเอกชนในส่วนที่เหลือ ก็หวังว่าภาครัฐจะยังคงนโยบายต่อเนื่องด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งผลต่อการเติบโตของประเทศ และการพัฒนาเมือง ซึ่งจะทำให้ได้ทั้งเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว

นอกจากนี้ในภาคอสังหาฯ คงต้องรอดูในเรื่องการแก้ไขของหนี้ภาคครัวเรือนของรัฐบาล รวมถึงมีความหวังว่าจากการที่ทั่วโลกได้มีการปรับลดดอกเบี้ยลง อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยลดลงไม่มากก็น้อย ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของที่อยู่อาศัยกลับมาได้อีกครั้ง เพราะบ้านยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนสำหรับชีวิต

หลังโควิดคลี่คลาย คนให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่มากขึ้น ทำให้ตลาดกลุ่มต่อเติม ตบแต่ง และปรับปรุงบ้านมีแนวโน้มตลาดที่น่าสนใจ รวมถึงการกระจายตัวของเมือง ทำให้คนเข้าถึงสินค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดี อีกทั้งยังมีโอกาสสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศ

แข่งขันเข้มข้นรุนแรง

ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง กล่าวอีกว่า ตลาดกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างมีผู้เล่นมากราย จึงถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ และแข่งขันสูงมาโดยตลอด แต่วันนี้ เรามีการแข่งขันจาก supply ส่วนเหลือจากต่างประเทศด้วย ก็ยิ่งทำให้การแข่งขันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยแต่ละกลุ่มความรุนแรงก็จะขึ้นอยู่กับว่าหมวดนั้น เป็นสินค้าส่วนไหนของ Supply Chain หรือหากเป็น end Product ก็ต้องดูว่าใน Supply Chain นั้นๆ เราแข่งขันได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าหลาย ๆ อุตฯเป็นสินค้า Commodity มีราคาตลาดโลกอ้างอิง จึงไม่ได้มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันในเรื่องของวัตถุดิบ ดังนั้น จึงต้องขึ้นอยู่กับสเกล และฝีมือล้วนๆ

“โลกทุกวันนี้ก็แคบลงเรื่อยๆ ทุกคนเข้ามาแข่งกับเราได้หมด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเราก็ไปหาคนอื่น ๆ ได้ เช่นกัน”

อย่างไรก็ตามปีนี้สินค้าจีนมีการเติบโตมากกว่า 10% โดยเฉพาะสินค้ากึ่งวัตถุดิบ ที่เติบโตมาก ซึ่งก็มาเบียดบังการจำหน่ายในประเทศ ในราคาที่กดต่ำลง ซึ่งก็สร้างความปั่นป่วนไม่เพียงแต่ผู้ซื้อมาขาย แต่คนใช้ หรือเอาไปประกอบขาย ก็มีการตัดราคากันมากเช่นกัน เนื่องจากได้แหล่งวัสดุที่ราคาแตกต่างกัน

การปรับตัวทำได้มากน้อยต่างกัน บางวัสดุอาจจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ง่าย ก็สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า แต่ก็ต้องใช้เวลาในการนำเสนอลูกค้า ในการจัดจำหน่าย กว่าร้านค้าจะรับเข้ามาจัดจำหน่าย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ที่คนก็ไม่กล้าลงทุนเพิ่ม พื้นที่สต๊อกก็เต็มจากการขายสินค้าไม่ดี ซึ่งแม้ผู้ผลิตจะมีการปรับตัวแต่ก็ไม่ได้ง่าย และรวดเร็ว บางบริษัทฯก็อาจะลดกำลังการผลิต หรือเลิกไป หากไม่สามารถทนพิษการแข่งขันไหว หรือลดต้นทุน ลดเวลาทำงาน ก็มีให้เห็น

 อย่างไรก็ตามโดยปกติ วัสดุก่อสร้างจะเติบโตควบคู่ไปกับ GDP แต่ในอัตราที่มากกว่า แต่เริ่มไม่ค่อยเป็นเช่นนั้นในระยะหลังๆ แต่ถ้าเรามุ่ง ที่จะเป็นประเทศที่พ้นกับกัดรายได้ปานกลาง  วัสดุก่อสร้าง จะสร้างงานสร้างอาชีพได้มาก และได้มูลค่าเพิ่มสูง จึงหวังที่จะสร้างการเติบโตในสัดส่วนที่มากกว่า อย่างน้อย 5% ซึ่งอาจจะเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจการก่อสร้าง และโครงสร้างต่าง ๆ มากกว่าเพียงแค่วัสดุ

แต่ในส่วนวัสดุ เราอาจจะต้องลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งภาพโดยรวมอาจจะไม่โตมากนัก แต่หวังว่าเราจะช่วยกันใช้วัสดุในประเทศในทุกๆภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนและในยามคับขัน จึงเป็นคลัสเตอร์ที่รัฐควรให้การสนับสนุนยามวิกฤต เพื่อรักษาอุตสาหกรรมในประเทศไว้

ประธานคณะคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง กล่าวทิ้งท้าย ปัญหาของกลุ่มฯ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงของการเปิดเสรีทางการค้าที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศเรามีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และทำให้กลุ่มเหล่านั้นแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น เปิดตลาดได้

แต่ในทางกลับกัน สินค้าวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ เป็นสินค้า commodity ที่ซื้อขายกันทั่วไปได้ง่าย ราคาอ้างอิงตลาดโลก จึงเป็นสินค้าที่ไม่ได้สร้างความได้เปรียบมากนัก และอาจจะเสียเปรียบด้วยซ้ำ กับบางประเทศ ที่เราอาจจะแข่งขันได้ไม่ดีเท่า โดยเฉพาะในด้านสเกล ในภาวะที่เศรษฐกิจแย่แบบนี้

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,041 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567