จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 และมีผลทันที โดยเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี หลังจากคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% ต่อปี
การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้ กนง.ให้เหตุผลหลักเพื่อบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนและเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ล่าสุดธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ขานรับในการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากลง 0.25% โดยส่วนใหญ่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ลง 0.25% จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งระบบ สามารถลดภาระต้นทุนด้านดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้มากกว่า 1,300 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจปรับลดลงเกือบ 1,300 ล้านบาท โดยคำนวณผลของภาระดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงเฉพาะช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2567 โดยยังไม่ได้นับรวมสินเชื่อส่วนที่จะเข้าสู่ช่วงการปรับอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า)
“การปรับลดดอกเบี้ยลงของธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรู้สึกผ่อนคลายด้านภาระดอกเบี้ย และภาระทางการเงินลง”
อย่างไรก็ดีจากกรณีสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 หดตัวลง(ปล่อยกู้ลดลง) 272,355 ล้านบาท หรือ -1.87% จากสิ้นปี 2566 ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวลดลงจากเดิมอยู่ที่ 90.7% ต่อจีดีพี ลงมาเหลือ 89.6% (ณ ไตรมาส 2 /2567 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี) ซึ่งดูแล้วเหมือนดีขึ้น
แต่หากเข้าไปดูไส้ในแล้ว หนี้ครัวเรือนที่ลดลงมีส่วนสำคัญจากการปล่อยกู้ที่ลดลงของธนาคารพาณิชย์ จากมีความระมัดระวัง และปล่อยกู้ยาก ทั้งการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปล่อยกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล และอื่น ๆ ผลที่ตามมาก่อนหน้านี้คือ ทำให้การปล่อยกู้แก่เอสเอ็มอีทั้งระบบช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาลดลงประมาณ 3-4% ส่งผลให้ขาดสภาพคล่อง หลายรายแบกรับสภาพไม่ไหวต้องปิดตัวไป
ต่อคำถามทิศทางแนวโน้มของธนาคารหรือแบงก์พาณิชย์ หลังมีการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จะมีผลให้ผ่อนคลายความเข้มงวด และปล่อยกู้ง่ายขึ้นหรือไม่ นายเกรียงไกร กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นการช่วยลดต้นทุนทางการเงินของผู้กู้ยืมเงิน แต่ธนาคารก็ยังเข้มงวดในการปล่อยกู้ต่อไป ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย คงต้องมีมาตรการผ่อนปรนเพิ่มเติมเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ได้มากขึ้น
“การลดดอกเบี้ยลงของธนาคารพาณิชย์ 0.25% ในครั้งนี้ หลัง กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% โดยส่วนใหญ่จะเริ่มลดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ถือว่าไม่ช้าไม่เร็ว อย่างไรก็ดีหากธนาคารพาณิชย์สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก ยิ่งลดมากก็จะยิ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ และประชาชน ในการช่วยลดต้นทุนและภาระทางการเงิน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ กนง.ที่จะมีการพิจารณาในรอบต่อ ๆ ไป”
อย่างไรก็ดีมองว่านอกจากการปรับลดดอกเบี้ยแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่องควบคู่กันไปคือ การฟื้นฟู และเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ล่าสุดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยหลายจังหวัดเพิ่งประสบอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่
ดังนั้นต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นกำลังซื้อ เพิ่มการจ้างงาน โดยการออกมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึง การหามาตรการ / แนวทางเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และประชาชน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าพลังงานต่าง ๆ เป็นต้น
“การลดดอกเบี้ยลง 0.25% หากถามผู้ประกอบการว่ายังอยากให้ลดอีกหรือไม่ ก็จะตอบเป็นสิ่งเดียวกันว่าต้องการให้ลดลงอีก เพราะการที่ลดลงไป 0.25% สามาาถช่วยเซฟภาระดอกเบี้ยทั้งระบบให้กับเอสเอ็มอี ได้ประมาณ 1,300 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะลดได้-ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับ กนง. ซึ่งเราก็มีความคาดหวัง เพราะเวลานี้เทรนด์ของทั่วโลกเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาลงทั้งสิ้น ก็หวังว่ากนง.คงได้พิจารณาในโอกาสต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว