จีนทำ “เหล็กราคาถูก”อุดหนุนปีละแสนล้าน ป้องจ้างงาน 6 ล้านคน ไทยนับถอยหลัง

12 ต.ค. 2567 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2567 | 13:45 น.

หลายคนคงคิดเหมือนผมว่า “ทำไมสินค้าจีนราคาถูกมาก” ผ่านไปกี่ปี สินค้าจีนก็ยังราคาต่ำกว่าคู่แข่ง จนสหรัฐฯ ระบุว่าจีนทำการค้าแบบ “Unfair Trade Practices” ซึ่งหมายถึงการอุดหนุนการผลิต การส่งออก และการละเมิดลิขสิทธิ์

ทำให้สหรัฐฯ ใช้มาตรา 301 การค้าที่ไม่เป็นธรรม ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน เช่น เหล็กและแบตเตอรี่จาก 7.5% เป็น 25% (ปี 2024) เซมิคอนดักเตอร์จาก 25% เป็น 50% (ปี 2025) รถ EV จาก 25% เป็น 100% (ปี 2024) เป็นต้น (ใช้ Section 232 กับสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม โดยมีเป้าหมายหลักจากจีน)

จีนทำ “เหล็กราคาถูก”อุดหนุนปีละแสนล้าน ป้องจ้างงาน 6 ล้านคน  ไทยนับถอยหลัง

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตของจีนเพิ่มสูงขึ้นทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าไฟฟ้า แต่ละรายการมีการเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% แต่ข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น World Bank,  International Monetary Fund (IMF) และ Asian Development Bank (ADB) มีการวิเคราะห์ราคาสินค้าและการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในกรณีของจีนและประเทศคู่แข่งพบว่า ราคาสินค้าจีนในตลาดโลกต่ำกว่า 10-30%

ทั้งนี้ ขึ้นกับประเภทสินค้า เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร ราคาจะต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประมาณ 10-30% สินค้าเกษตร  (ข้าว ผลไม้ และผัก) ราคาสินค้าส่งออกจากจีนมักจะถูกกว่าสินค้าจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เช่น เวียดนาม ไทย) ประมาณ 5-20% และราคาเสื้อผ้าและรองเท้า ส่งออกจากจีนขายต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น บังกลาเทศและอินเดียประมาณ 15-25%

ในขณะที่ราคาเหล็กจีนถูกกว่าญี่ปุ่นและเกาหลี 10-20%  ถูกกว่าเหล็กไทย 20-30% ถูกกว่าสหรัฐฯ 50%  โรงงานจีนยังผลิตเท่าเดิมทั้งที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและเศรษฐกิจจีนก็ไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อน

“เหตุผล” เพราะ 1.จีนสนับสนุนเงินทุนจำนวนมากและหลายช่องทาง 2.จีนไม่ต้องการให้เศรษฐกิจลดลง ที่ส่งผลต่อการจ้างงาน 3.จีนใช้นโยบาย Factory of the World ผลิตปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง และ 4.จีนทำตามนโยบาย BRI เพื่อส่งออกและลงทุน

จีนทำ “เหล็กราคาถูก”อุดหนุนปีละแสนล้าน ป้องจ้างงาน 6 ล้านคน  ไทยนับถอยหลัง

ผมขอยกตัวอย่างกรณี “เหล็กจีน” จีนอุดหนุนเงินทุนอุตสาหกรรมหลัก 5 ชนิด ได้แก่ พลังงานทางเลือก รถ EV เซมิคอนดักเตอร์ AI เหล็กและอลูมิเนียม และเกษตรกรรม เฉลี่ยอุดหนุนปีละ 1.5 ล้านล้านบาท (2000-2023)  อุตสาหกรรมเหล็กอุดหนุนปีละ 0.7-1.0 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ให้สินเชื่อเหล็กสีเขียวดอกเบี้ยไม่เกิน 3% สินเชื่อปรับกระบวนการผลิต ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (China Development Bank, CDB) ธนาคารเพื่อการก่อสร้างแห่งชาติ (China Construction Bank, CCB) และธนาคารกลาง (People Bank of China, PBOC) ดอกเบี้ยไม่เกิน 3%

ลดภาษีส่งออก (จาก 10-20% เหลือ 0-5%) ได้รับสิทธิพิเศษสำหรับการวิจัย (การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในมหาวิทยาลัย ให้เงินวิจัยจากรัฐบาลกลาง ท้องถิ่น และบริษัทเอกชน และจัดสรรงบวิจัยให้เหล็ก 1-3% ของงบวิจัยประเทศ)  

สนับสนุนลดการปล่อยคาร์บอน อุดหนุนการใช้พลังงานสะอาด และอุดหนุนการเข้าไปตั้งโรงงานเหล็กในต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานจีนช่วยเจรจาการทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ผลดังกล่าว ทำให้ผลผลิตเหล็กจีนยังผลิตเท่าเดิมและราคาเหล็กจีนถูกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ที่โรงงานเหล็กไทยต้องปิดตัวลงในที่สุด

รัฐบาลจีนไม่ให้การผลิตเหล็กลดลง เพราะ 1.มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบ 6 ล้านคน (เหล็กไทยจ้างแรงงาน 1 แสนคน) 2.เตาถลุงเหล็ก (Blast Furnace สัดส่วน 80% ที่เหลือเป็น Electric Arc Furnace (EAF) (เตาหลอมอาร์คไฟฟ้า)  ไม่สามารถหยุดผลิตได้

3.เหล็กจีนเจอ Trade War ถูกขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ จำเป็นต้องหนีไปอาเซียน 4.ลดการปล่อยคาร์บอนโรงงานเหล็กจีนไปในประเทศอื่น 5.เพื่อย้ายเครื่องจักรหลอมเหล็กจีนรุ่นเก่าไปสู่อาเซียน

นโยบายเหล็กจีนข้างต้น  จะยิ่งส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทย อีกไม่นานไทยคงไม่มีบริษัทเหล็กของคนไทย แต่จะเป็นบริษัทและโรงงานเหล็กจีนแทนที่

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

                     ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ที่ปรึกษา บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด