ความท้าทายในการผลักดัน "ซอฟต์พาวเวอร์" ของไทย

18 ก.ค. 2567 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2567 | 10:26 น.

มุมมองจากนักวิชาการ TDRI กับความท้าทายในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย 3 ประการ การออกแบบ การสร้างตลาด การจูงใจให้เกิดการบริโภค

การผลักดันพลังซอฟต์พาวเวอร์ของไทยปรากฏขึ้นอีกครั้งในงานเปิดตัวชุดพิธีการที่จะใช้ในการเปิดการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ปารีส 2024 โดยการออกแบบชุดพิธีการในครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมที่ใช้ชุดสูทเรียบง่าย มาเป็นชุดผ้าไหมสีฟ้าพร้อมลายที่กระดุม ซึ่งเป็นความพยายามในการสอดแทรกวัฒนธรรมความเป็นไทยเข้าไปด้วย

เครดิตภาพ : Stadium TH

อย่างไรก็ดี ความเห็นจากโลกโซเชียลกลับแตกต่างกันไป โดยกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยให้ความสำคัญกับการใช้ผ้าไหมและการออกแบบที่สะท้อนความเป็นไทย ในขณะเดียวกัน มีหลายความคิดเห็นที่มองว่าการออกแบบดูโบราณและไม่ทันสมัย ควรมีการปรับปรุงให้กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น

เสียงสะท้อนจากภาพที่เห็นแว่บแรก หรือที่เรียกว่า first impression มีความสำคัญมาก และได้สะท้อนจุดอ่อนของการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในปัจจุบัน ในความเห็นของผู้เขียน พบว่ามีความท้าทายอย่างน้อย 3 ประการที่ควรใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่างในการปรับปรุงการทำงานในอนาคต

ประการแรกคือเรื่องการออกแบบ การออกแบบที่ดีคือการหาจุดเหมาะสมระหว่างความทันสมัยและวัฒนธรรมความเป็นไทยแบบดั้งเดิม ซึ่งการออกแบบควรได้รับเสียงสะท้อนจากคนหลายกลุ่มอายุแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไข หากมีกลไกในลักษณะนี้ ก็น่าจะได้รับเสียงสะท้อนที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้ อีกวิธีหนึ่งคือการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การแข่งขันเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์ไอเดียที่หลากหลาย และคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมมาใช้เป็นตัวแทนของประเทศ

ประการที่สอง คือเรื่องการสร้างตลาด หลายครั้งการออกแบบเพื่องานระดับประเทศและนานาชาติมักเป็นการสร้างสินค้าหรือบริการขึ้นมาเฉพาะเน้นความใหญ่โต สวยงาม และโดดเด่น แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นการออกแบบเฉพาะงาน ไม่ได้มีการต่อยอดผลักดันสู่การผลิตสินค้าและบริการไปขยายต่อ เมื่อถึงคราวที่ต้องจัดงานใหม่ก็มีการออกแบบใหม่อีกครั้ง การดำเนินการในลักษณะนี้ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการสร้างตลาดจากผลผลิต การออกแบบที่ดีควรมีแผนการขยายตลาดให้สินค้าและบริการที่ออกแบบและผลิตสามารถต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจด้วย

ประการที่สาม คือการจูงใจให้เกิดการบริโภคหรือใช้สินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการกำลังซื้อจากคนไทยด้วยกัน จริงอยู่ว่าการพัฒนาสินค้าและบริการที่ประสบความสำเร็จอาจเน้นขายให้ต่างชาติโดยเฉพาะ เช่น สินค้าลายช้างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักซื้่อเป็นของฝาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การสร้างสินค้าและบริการที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ควรเริ่มต้นจากการใช้อย่างแพร่หลายในสังคมไทยเสียก่อน จึงจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมของไทยอย่างแท้จริง

การสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ให้คนไทยใช้กลับกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด เพราะนอกจากจะต้องออกแบบให้เป็นที่ยอมรับของคนไทยแล้ว ยังต้องจูงใจให้คนไทยหันมาใช้สินค้าด้วยกันเอง ในหลายๆ ความเห็นที่ต้องการการออกแบบตามที่ตนเองคิดไว้ จะมีสักกี่คนที่ยินดีใช้สินค้าที่ผลิตจากการออกแบบนั้น?

ผู้เขียนหวังว่าการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในโอกาสต่อไป จะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อพัฒนาพลังซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้ได้ดียิ่งขึ้น