บิ๊ก “อินโดรามาฯ” สั่งลุย นำวัตถุดิบ 20% ทั่วโลก กลับมาใช้ใหม่

06 ก.ค. 2567 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2567 | 09:01 น.
2.3 k

ในภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อุตสาห กรรมต่าง ๆ มีความท้าทายมากขึ้น ทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ธุรกิจต้องบริหารความเสี่ยงท่ามกลางต้นทุนที่ผันผวน หลายประเทศออกมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดภายใน ขณะที่ภาคธุรกิจตั้งเข็มทิศมุ่งสู่ความยั่งยืน

บิ๊ก “อินโดรามาฯ” สั่งลุย นำวัตถุดิบ 20% ทั่วโลก กลับมาใช้ใหม่

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่มีเครือข่ายธุรกิจเชื่อมโยงไปทั่วโลก ที่ประกาศจุดยืนรับมือการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต้องให้สู้ได้อย่างยั่งยืน

นายอาลก กล่าวว่า อินโดรามา เวนเจอร์ส ดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ Combined PET, Fibers, และ Indovinya (เดิมคือ ธุรกิจปลายนํ้าของกลุ่มธุรกิจ Integrated Oxides and Derivatives หรือ IOD) กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ให้บริการโซลูชันที่หลากหลายแก่อุตสาหกรรมหลายประเภท รวมถึงบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์สำหรับบ้านและการดูแลส่วนบุคคล ยานยนต์ การเกษตร เครื่องนุ่งห่ม ของตกแต่งบ้าน และอื่น ๆ โดยมีพนักงานทั่วโลกประมาณ 26,000 คนในตลาดที่เติบโตและกำลังพัฒนาทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)

“ประมาณ 70% ของพอร์ตโฟลิโอที่หลากหลายของเราเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เชื่อมโยงกับเมกะเทรนด์ระยะยาว เช่น การเติบโตของประชากร มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น การขยายตัวของเมือง และความต้องการความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มของโลกเหล่านี้ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมปีละ 4-5% (สูงกว่าการเติบโตของ GDP หรือ GDP+) โดยเราเป็นผู้นำอันดับหนึ่งหรือสองในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักในตลาดสำคัญๆ ซึ่งมีโอกาสเติบโตในระยะยาวอย่างมาก”

ฐานผลิตในไทย 17 โรงงาน

สำหรับฐานผลิตในประเทศไทยครอบคลุมโรงงาน 17 แห่ง ที่ผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลทหรือ PET ครบวงจร ไล่ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบอย่าง PTA จนถึงการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ขวดใสใส่นํ้าดื่ม PET รีไซเคิล นอกจากนี้ การดำเนินงานยังรวมถึงเส้นด้ายสำหรับถุงลมนิรภัยและเส้นด้ายขนสัตว์

“เราเติบโตในประเทศไทยและยังขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เพื่อตอบรับต้นทุนที่สูงกว่าบางตลาดที่มีต้นทุนตํ่ากว่า เช่น อินเดีย หรืออินโดนีเซีย เริ่มต้นจากการก่อตั้งฐานผลิตเส้นด้ายขนสัตว์ในประเทศไทยเมื่อปี 2537 จากนั้นอินโดรามาฯ ได้เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าของโพลีเอสเตอร์ในปี 2538 โดยก่อตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก PET แห่งแรกในประเทศไทย บริษัทได้เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและระดับโลก โดยมี PET เป็นรากฐานของโมเดลธุรกิจแบบบูรณาการที่ไม่มีใครเหมือน”

บิ๊ก “อินโดรามาฯ” สั่งลุย นำวัตถุดิบ 20% ทั่วโลก กลับมาใช้ใหม่

เปิดภาพรวมรายได้หลัก

เมื่อถามถึงรายได้หลักของเครือจากฐานผลิตทั่วโลก มาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มใด นายอาลก กล่าวว่า เนื่องจาก Combined PET (CPET) เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มมานานหลายทศวรรษและตลาดมีการเติบโตกว่า 4% ต่อปี จึงเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด โดยมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 60% ในไตรมาสแรกของปี 2567 ส่วนกลุ่มธุรกิจใหม่อย่าง Indovinya คาดว่าจะเติบโตเร็วขึ้นพร้อมกับการฟื้นตัวในกลุ่มธุรกิจเส้นใย สำหรับระดับภูมิภาค อเมริกาเหนือและใต้ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 50% รองลงมาคือเอเชียที่ 29% ส่วนที่เหลือเป็นภูมิภาค EMEA (Europe, the Middle East and Africa)

ทั้งนี้ในปี 2566 รายได้รวมทั้งเครือทั่วโลกอยู่ที่ 541,458 ล้านบาท โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือและใต้มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดคิดเป็น 50% ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ทั่วโลกยังคงท้าทาย เนื่องจากการสร้างกำลังการผลิตส่วนเกิน อัตราเงินเฟ้อที่สูง อัตราดอกเบี้ยที่สูง และการระบายสต๊อกสินค้าของลูกค้าตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงตลอดช่วงปี 2566

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีผลงานที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากแนวโน้มการระบายสต๊อกสินค้าที่ยืดเยื้อแสดงสัญญาณของการผ่อนคลายในทุกกลุ่มธุรกิจของเครือทั่วโลก คาดว่าการฟื้นตัวของปริมาณขายจะดำเนินต่อไปตลอดปี 2567 แม้ว่าจะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการระบายสต๊อกสินค้ากำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติในหลาย ๆ อุตสาหกรรม

“ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และที่ตั้งของเราทำให้ใกล้ชิด และสามารถให้โซลูชันสำหรับห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศที่ครบถ้วนแก่ลูกค้า เป็นหนึ่งในจุดแข็งสำคัญของเรา โดยประเทศ ไทยเป็นสำนักงานใหญ่และเป็นประเทศที่สำคัญในเอเชียสำหรับการดำเนินงาน”

ธุรกิจในไทยยังโตได้อีก

สำหรับธุรกิจของเครือในไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโต เพราะตลาดสินค้าปลายทางยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามเมกะเทรนด์ของผู้บริโภค ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ก็เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการบริโภคต่อหัวสำหรับผลิตภัณฑ์ในพื้นที่เหล่านี้ (อาทิ อินเดีย และแอฟริกา) มีโอกาสเติบโตอีกมาก จากประชากรที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของเมืองในตลาดที่พัฒนาแล้ว อย่างในประเทศตะวันตก โอกาสอยู่ที่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และผลิตภัณฑ์รีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่ในตำแหน่งที่ดีมากที่จะได้รับประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ เนื่องจากเครือมีฐานการผลิตทั่วโลก ในฐานะผู้ผลิตที่เชื่อถือได้และต้นทุนตํ่าในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้ว อินโดรามาฯ ได้บรรลุเป้าหมายที่น่าพอใจในการรีไซเคิลขวด PET ครบหนึ่งแสนล้านขวดนับตั้งแต่ปี 2554 และมุ่งมั่นที่จะบรรลุเพิ่มกำลังการรีไซเคิลให้ได้ถึง 750,000 ตันต่อปี ภายในปี 2568 ผ่านอินโดรามา เวนเจอร์ส อินเวสเมนท์ แอนด์ โฮลดิ้งส์ (IVIH) หน่วยธุรกิจที่ทุ่มเทให้กับการระบุและจัดหาเงินทุนให้กับโครงการเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยกำลังสำรวจหลายวิธีในการขยายการใช้งานทรัพยากรหมุนเวียนและวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ คาดภายในปี 2030 วัตถุดิบของเครือประมาณ 20% จะเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้

ทั่วโลกจำกัดนำเข้าตอบโต้จีน

เมื่อถามถึงกรณีการแข่งขันกับจีน ซีอีโอIVL กล่าวว่า จีนได้เพิ่มกำลังการผลิตตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศที่เติบโตและลดการนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา โครงการใหม่ ๆ ขนาดใหญ่ในจีนทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินในระยะสั้นถึงกลาง ซึ่งจะค่อย ๆ เข้าสู่จุดสมดุลเมื่อเวลาผ่านไป พร้อม ๆ การเติบโตของความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่งในจีน

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นถึงกลาง ได้สร้างสถานการณ์กำลังการผลิตส่วนเกิน และผลิตภัณฑ์บางอย่างถูกส่งออกจากจีน ประเทศใหญ่ ๆ ต่างต้องปกป้องตลาดภายในประเทศ จึงใช้มาตรการทั้งทางการค้าและไม่ใช่การค้าเพื่อจำกัดการนำเข้าและสนับสนุนการผลิตในประเทศของตนเอง

ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในปี 2567 ภาษี anti-dumping เกี่ยวกับการนำเข้า PET จากจีนได้รับการอนุมัติเป็นครั้งแรกในยุโรป ขณะที่เม็กซิโกได้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจาก 25% เป็น 35% อินเดียกำลังอยู่ในกระบวนการแนะนำ Bureau of Indian Standard (BIS) สำหรับผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เฉพาะแต่ละรายที่ส่งออกไปยังอินเดีย มาตรการดังกล่าวได้จำกัดและควบคุมการทุ่มตลาดของผลิตภัณฑ์จากจีนไปยังประเทศหลัก ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย เป็นต้น แม้จะมีการเพิ่มกำลังการผลิต แต่การส่งออกกลับไม่ได้เติบโตมากนักและอัตราการดำเนินงานภายในจีนก็ลดลง ซึ่งความจริงนี้กำลังทำร้ายกำลังการผลิตใหม่ ๆ ภายในจีน เนื่องจากพวกเขาสามารถทำจุดคุ้มทุนได้ยากในสถานการณ์ที่อัตราการทำกำไรภายในประเทศตกต่ำอย่างในปัจจุบัน

“อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้เปรียบเหนือจีนในเรื่องอัตรากำไรเนื่องจากความน่าเชื่อถือ การบูรณาการธุรกิจ และการผลิตในหลายๆ ประเทศนอกเหนือจีน พร้อมกับความสามารถในการรีไซเคิลที่ไม่มีใครเทียบได้ ทำให้เราได้ได้เปรียบ ขณะที่ลูกค้าต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและยั่งยืนมากขึ้น”

นอกจากนี้ในระยะยาว การก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันในจีนและอินเดียที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้วัตถุดิบสำหรับปิโตรเคมีในเอเชียมีราคาถูกลง เรากำลังใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานเหล่านี้ในอุตสาหกรรม โดยปรับการดำเนินงานสำหรับฐานการผลิตที่มีต้นทุนสูงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นภายใต้กลยุทธ์ธุรกิจ IVL 2.0 ซึ่งได้ประกาศไว้ในงาน Capital Markets Day เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มาตรการที่ทางกลุ่มดำเนินการจะช่วยให้ยังคงเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำ

เป้าหมายแผนธุรกิจระยะ 3 ปี

นายอาลก ตอกย้ำว่า การดำเนินงาน 3 ปีภายใต้กลยุทธ์ IVL 2.0 กำลังใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดเคมีภัณฑ์ทั่วโลกและปรับให้เหมาะสมกับโมเดลธุรกิจระดับโลกที่ไม่เหมือนใครให้แข็งแกร่งขึ้นภายใต้สภาวะถดถอยในปัจจุบัน สิ่งนี้จะธงนำไปจนถึงปี 2569 โดยมุ่งเน้นไปที่การลดหนี้สินและปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันเพื่อขับเคลื่อนการเพิ่มรายได้ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

ภายใต้กลยุทธ์นี้ คาดว่าอัตราการดำเนินงาน (operating rate) จะดีขึ้นจาก 74% ในปี 2566 เป็น 89% ในปี 2569 ในขณะที่ปริมาณการระบายสต็อกที่เกิดในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมากำลังปรับตัวดีขึ้นในช่วงเวลานี้ และกำลังปรับโครงสร้างพื้นฐานการผลิตทั่วโลกของกลุ่มให้เหมาะสม รวมถึงการดำเนินการกับสินทรัพย์ที่มีต้นทุนสูงแต่ประสิทธิภาพไม่มากนัก

“การลงทุนของเรายังคงมุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลและเพิ่มความสามารถในการผลิตวัสดุหมุนเวียนและเชิงชีวภาพ รวมถึงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญอย่างในอินเดียและแอฟริกา ที่ขณะนี้กำลังพิจารณาการสร้างโรงงานรีไซเคิลในอินเดียร่วมกับพันธมิตรร่วมทุน”

อย่างไรก็ตามกระแสเงินสดอิสระที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มจะขับเคลื่อนการจัดสรรเงินทุน ภายใต้ IVL 2.0 ที่คาดว่าจะลดหนี้ได้ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569 เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งจะมาจากรายได้จากการเสนอขายหุ้น IPO และการขายกิจการทั้งหมดประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การปรับโครงสร้างสินทรัพย์ให้เหมาะสมเพื่อประหยัด fixed cost ประมาณ 460-470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการสร้างกระแสเงินสดอิสระจากการดำเนินงาน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างปี 2024 ถึง 2026

นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นเลิศในการดำเนินงานอย่างมากผ่านการ Project Olympus 2.0 ซึ่งเป็นโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนของเรา สานต่อจากความสำเร็จของ Olympus 1.0 ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 527 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดย Olympus 2.0 มีเป้าหมายที่จะปลดล็อกกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มเติม 450 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2026 โดยใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัลใหม่ ๆ และแนวปฏิบัติ Lean Six Sigma