เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยแรงจูงใจในการทุจริตกรณีศึกษาจากวิทยานิพนธ์ฉาว

08 พ.ค. 2567 | 14:17 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 14:26 น.
854

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยแรงจูงใจในการทุจริตกรณีศึกษาจากวิทยานิพนธ์ฉาว : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย... รศ.ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3990

เรื่องการทุจริตนั้น เป็นหัวข้อหนึ่งที่เศรษฐศาสตร์การพัฒนาให้ความสนใจ เนื่องจากทั้งในแง่ของงานวิชาการและงานนโยบาย เราพบว่า การทุจริตนั้น มักพบได้มากกว่าในประเทศกำลังพัฒนา และมีราคาค่างวดที่แพง เพราะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อหน่วยย่อย เช่น รายบุคคล บริษัท องค์กร จนไปถึงสังคมส่วนรวม  

ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยที่ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ และวิธีวิเคราะห์ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นมากมายในต่างประเทศ แต่ถึงกระนั้น แบบจำลองง่าย ๆ ทางทฤษฎีก็ยังคงมีประโยชน์ในการช่วยทำให้เราเข้าใจว่า ปัจจัยอะไรบ้างส่งผลต่อการเกิดการทุจริต และในแง่นโยบาย เราจะช่วยกันทำให้การทุจริตลดลงได้อย่างไร

ในวันนี้ ผู้เขียนจึงขอมาเล่าสู่กันฟังถึงโมเดลง่าย ๆ เกี่ยวกับแรงจูงใจในการทุจริตนะคะ (Olken and Pande, 2012)

ในการตัดสินใจว่าจะทุจริตหรือไม่ ในโมเดลนี้ ก็มีพื้นฐานคล้าย ๆ ในโมเดลเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ ที่เกิดจากการเปรียบเทียบว่า การกระทำดังกล่าวจะ “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่ ในที่นี้ก็คือ ถ้าทุจริตแล้วจะได้และเสียอะไรเพิ่มเติมจากเดิมคือ ไม่ทุจริต ถ้าได้มากกว่าเสีย ก็จะตัดสินใจทุจริตค่ะ ทีนี้มาดูกันว่า 

(ก) ถ้าทุจริตแล้วจะได้อะไรเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง หนึ่งก็คือ จะได้ ก็ต่อเมื่อไม่ถูกจับได้ว่าทุจริต ฉะนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็น ที่จะไม่ถูกจับได้เมื่อทุจริต สองคือ สิ่งที่จะได้ ซึ่งก็คือ ส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างทุจริตกับไม่ทุจริต

เช่น ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ หากไม่ถูกจับได้ว่ารับสินบน เงินเดือนที่ได้รับอยู่ก็จะยังได้คงเดิม แต่ที่ได้เพิ่มเติมขึ้นมา ก็คือ เงินสินบน แต่ถึงแม้ไม่ถูกจับได้ ก็มีค่าเสียหายจากการไม่ซื่อตรง ซึ่งอาจจะเป็นทางมูลค่าความผิดที่เกิดทางใจ หรือค่าเสียหายจากการใช้ในการปกปิดความผิดค่ะ 

(ข) ส่วนทุจริตแล้วจะเสียอะไร ก็จะขึ้นอยู่กับ หนึ่ง โอกาสที่จะถูกจับได้ และ สอง ส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างตอนก่อนนั้น ที่สุจริตและหลังทุจริตแล้วถูกจับได้ เช่น ในกรณีของเจ้าหน้าที่ ก็คือ ระหว่างเงินเดือนที่เคยได้ กับเมื่อถูกไล่ออกไปแล้ว อาจมีคดีติดตัว ต้องติดคุก รายได้เป็นศูนย์ค่ะ 

เมื่อการตัดสินใจเกิดจากการเปรียบเทียบว่าจะ “ได้คุ้มเสีย” หรือ ไม่เมื่อทุจริต ตามปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น เราก็จะเห็นได้ว่า แรงจูงใจในการทุจริต สามารถขึ้นอยู่กับอะไรได้บ้าง เช่น มาตรการตรวจสอบและจับทุจริตที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ทำให้โอกาสที่ผู้ทุจริตถูกจับได้มากขึ้น ก็จะลดการ “ได้” และเพิ่มการ “เสีย” จากการทุจริต และลดแรงจูงในในการทุจริต  ส่วนเงินสินบน หรือ ผลประโยชน์ที่ได้จากการทุจริต ยิ่งมีมูลค่าสูง ก็ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจในการทุจริต 

ในขณะเดียวกัน ค่าเสียหายจากการทุจริตยิ่งสูง ก็จะยิ่งลดแรงจูงใจในการทุจริต เช่น ในผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ หรือ ในกรณีที่การปกปิดการทุจริตทำได้ยาก

                                 เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยแรงจูงใจในการทุจริตกรณีศึกษาจากวิทยานิพนธ์ฉาว

และที่สำคัญ ยิ่งมาตรการลงโทษต่อผู้ทำทุจริตรุนแรง จนทำให้โอกาสในการมีผลตอบแทน เช่น รายได้ กลับมาเท่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อไม่ทุจริตมีน้อยมากเท่าไหร ก็จะยิ่งทำให้แรงจูงใจในการทุจริตลดลงเท่านั้น 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จะขอยกตัวอย่างจากกรณีวิทยานิพนธ์ในหน้าข่าว ที่พบว่า เอกสารที่อ้างอิงไม่มีอยู่จริง ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ หรือ ตกแต่งข้อมูลเท็จขึ้นมา (data fabrication) ในทางวิชาการถือเป็นการทุจริตอย่างร้ายแรงมาก ในกรณีนี้หากมีการตรวจสอบทุจริตอย่างเข้มแข็งแต่แรก 

เช่น ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ไม่มักง่าย มีความเชี่ยวชาญ และเคารพในหลักวิชาการและวิชาชีพ โอกาสที่จะจับทุจริตได้แต่แรกก็จะสูง ทำให้นิสิตลดแรงจูงใจในการทุจริตทางวิชาการ

และต่อมาเมื่อจับได้ว่า ทุจริต หากมหาวิทยาลัยต้นสังกัดวิทยานิพนธ์มีการลงโทษอย่างรุนแรงเพียงพอ ก็จะทำให้การ “ได้” จากการทุจริต “ไม่คุ้มเสีย” ลดแรงจูงใจในการทุจริตจากนิสิตดังกล่าว และนิสิตต่อไปในอนาคตเมื่อเห็นตัวอย่างค่ะ 

แต่ที่เราเห็นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อต่อมา มีอาจารย์ท่านหนึ่ง “จับทุจริต” นี้ได้ โดยมีคำตัดสินจากศาลอาญาเสมือนเป็นเครื่องรับรอง แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำ กลับเป็นเพียงการระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ จึงไม่ได้ทำให้ผลประโยชน์ที่บัณฑิตผู้นั้น ได้รับเปลี่ยนไป

เมื่อทุจริตแล้วถูกจับได้ ซึ่งแตกต่างจากในกรณีที่ หากผู้บริหารและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ดำเนินการถอดทอนวิทยานิพนธ์ หรือ ปริญญา ที่จะทำให้ผู้ทุจริตเสียโอกาสในการใช้วุฒิการศึกษาจากต้นสังกัดมาประกอบอาชีพเดิม หรือ อาชีพที่มีมูลค่าเท่าเดิม หรือใช้สิ่งที่บิดเบือนในวิทยานิพนธ์ ไปหาประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ อีก ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างในการเสียประโยชน์จากการทุจริต มีมูลค่าสูง และน่าจะสูงเพียงพอที่จะลดแรงจูงใจ ในการทุจริตในอนาคตของนิสิตรุ่นหลังด้วย 

เราจะเห็นได้ว่า จากกรณีศึกษานี้ เมื่อผู้ลงโทษขาดความลึกซึ้งในการวิเคราะห์และรับผิดชอบในหน้าที่ต่อส่วนรวม ก็อาจส่งผลกระทบถึงแรงจูงใจในการทุจริต ที่ไม่ใช่แค่ในปัจจุบัน หรือ เฉพาะคน หากส่งผลถึงแรงจูงใจในการทุจริตทางวิชาการในอนาคต อันหมายถึงอนาคตของวงการวิจัยและการศึกษาไทยด้วยค่ะ

จากกรณีที่ยกขึ้นมา จะเห็นได้ว่า การตรวจสอบที่เข้มแข็ง และบทลงโทษที่สมเหตุสมผล และรุนแรงเพียงพอสามารถลดแรงจูงใจในการทุจริตได้  แล้วถ้าพวกเราที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบและลงโทษจะทำอะไรได้บ้าง

จากโมเดล เราก็สามารถอนุมานได้ว่า การตรวจสอบทวงถามจากภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้โอกาสจับทุจริตได้มีสูงขึ้น การลงโทษทางสังคม การไม่เชิดชู กราบไหว้ ให้ค่าคนโกหก คนโกง และผู้ทำหน้าที่ลงโทษผู้ทุจริตที่ละเลยต่อหน้าที่

ไม่ว่าเขาหล่านั้นจะสามารถให้คุณให้โทษกับเราได้มากเพียงใด ซึ่งจะทำให้การเสียประโยชน์ เมื่อถูกจับได้ว่าทุจริตมีราคาแพงขึ้น และการช่วยกันสร้างสังคมที่ให้คุณค่าแก่ธรรมะอย่างหิริโอตัปปะ ก็น่าจะมีส่วนช่วยในการลดแรงจูงใจในการทุจริตในสังคมได้ไม่มากก็น้อยค่ะ ... มาช่วยกันนะคะ

เอกสารอ้างอิง:

Olken, B.A. and Pande, R., 2012. Corruption in developing countries. Annu. Rev. Econ., 4(1), pp.479-509.