ทุนนิยมแบบ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน บทเรียนจากธุรกิจครอบครัว (1)

30 ธ.ค. 2566 | 05:09 น.

ทุนนิยมแบบ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน บทเรียนจากธุรกิจครอบครัว (1) : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทุกธุรกิจต้องพบกับบททดสอบความแข็งแกร่งทางธุรกิจและมีจำนวนไม่น้อยทีไม่สามารถผ่านการทดสอบไปได้ มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในธุรกิจครอบครัวของการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจในประเทศอินเดียที่มีรูปแบบความเป็นเจ้าของที่หลากหลาย

รวมถึงธุรกิจครอบครัวแบบดั้งเดิม เช่น บริษัท Tatas, Godrejs หรือ Birlas เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจทั่วไปที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวแต่เป็นของรัฐ เช่น ONGC และ SAIL หรือเป็นบริษัทข้ามชาติ เช่น HUL และ BATA หรือมีกลุ่มเจ้าของที่หลากหลาย เช่น L&T และ Infosys ด้วย

แต่ธุรกิจครอบครัวก็เป็นรูปแบบธุรกิจที่โดดเด่นและเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจอินเดีย โดยมีตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จนกล่าวได้ว่ามากกว่า 90% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในอินเดียเป็นธุรกิจครอบครัว อย่างไรก็ตามทั้งธุรกิจครอบครัวและธุรกิจทั่วไปที่ไม่ใช่ของครอบครัวต่างมีจุดเด่นจุดด้อยที่ทำให้ทั้งประสบความสำเร็จและความล้มเหลวแตกต่างกัน บทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจแต่ละประเภทจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจของตนต่อไป

บทเรียนที่ธุรกิจทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้จากธุรกิจครอบครัว ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวยังคงแข็งแกร่ง มีดังนี้

1. การมุ่งเน้นเป้าหมายระยะยาวรากฐานของทุนนิยมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ธุรกิจครอบครัวอินเดียจำนวนมากที่เป็นที่รู้จัก เช่น Tatas, Birlas, Burmans และ Murugappas เป็นต้น สามารถดำเนินกิจการอยู่มาได้ 5 ชั่วอายุคนหรือนานกว่านั้น เนื่องจากการมุ่งเน้นเป้าหมายในระยะยาวและทุนนิยมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน (Patient Capitalism) 

ทุนนิยมแบบ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน  บทเรียนจากธุรกิจครอบครัว (1)

โดยบริษัทให้ความสำคัญกับผลกำไรในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนระยะสั้น อีกทั้งการมุ่งเน้นเป้าหมายในระยะยาวของธุรกิจครอบครัวเอื้อให้เกิดนวัตกรรมที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้จึงต้องใช้เวลายาวนานจึงจะบรรลุผลและได้รับผลกำไร ซึ่งปรากฏการณ์นี้พบเห็นได้ทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในประเทศอินเดียเท่านั้น

ธุรกิจครอบครัวที่มีนวัตกรรมมากที่สุดหลายแห่งในอุตสาหกรรมยา เช่น บริษัท Merck ของเยอรมนี หรือ The Swiss แห่ง Roche Group เป็นต้น ทั้งนี้การลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาวช่วยให้พัฒนาแผนงานหรือแนวคิดได้นานขึ้น และช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีผลงานเหนือกว่าในการแข่งขันระยะยาว จึงทำให้ธุรกิจดำรงอยู่ได้ยาวนานกว่า

ขณะที่ธุรกิจที่บริหารด้วยมุมมองระยะสั้นจะตอบสนองต่อแนวโน้มที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะต้องแลกด้วยต้นทุนของกำไรระยะยาว มีงานวิจัยชี้ว่าธุรกิจครอบครัวที่มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในระยะยาว จะสามารถมองสภาพแวดล้อมได้กว้างเพื่อคาดการณ์ แนวโน้มในระยะยาว และเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วเมื่อมีโอกาสเกิดขึ้น

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,952 วันที่ 28 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566