อุตฯ รถยนต์ปี 67 มั่นใจโตตามเศรษฐกิจ “อีวี”รุ่ง คาดแชร์ตลาด 15%

30 พ.ย. 2566 | 08:56 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2566 | 09:13 น.
1.8 k

ปี 2567 ที่จะมาถึง เป็นอีกปีที่ภาคอุตสาหกรรมยังต้องลุ้นว่าจะเผชิญกับความเสี่ยงด้านใดบ้าง ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขาข้างหนึ่งพึ่งพาตลาดส่งออกจำนวนมาก ขณะที่ไทยเร่งเครื่องพร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ทุกรูปแบบ

อุตฯ รถยนต์ปี 67 มั่นใจโตตามเศรษฐกิจ “อีวี”รุ่ง คาดแชร์ตลาด 15%

ทั้งนี้ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปีหน้าจะไปทางไหน มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง ฟังมุมมองจาก นายสุรพงษ์ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กูรูวงการรถยนต์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าติดตาม

  • ทิศทางปี 67 โตต่อเนื่อง

นายสุรพงษ์ ฉายภาพว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยนับจากนี้ สินค้าหลักยังเป็นการผลิตรถยนต์สันดาปภายในเพื่อส่งออกและขายในประเทศ แม้เวลานี้จะมีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากต่างประเทศหลายรายได้นำรถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายในไทย และได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อตั้งโรงงานในไทย ซึ่งตามข่าวจะเริ่มผลิตได้ตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป แต่ยังไม่ทราบปริมาณที่จะผลิต จึงอาจจะมีส่วนแบ่งในการผลิตไม่สูงมากนัก เว้นแต่จะผลิตเพื่อส่งออกเป็นจำนวนมาก

สุรพงษ์ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงเป็นฐานผลิตรถยนต์สันดาปภายใน รวมทั้งชิ้นส่วนเพื่อส่งออกและขายในประเทศไปอีกหลายปีจนกว่าผู้บริโภคไม่ต้องการใช้รถยนต์สันดาปภายในแล้ว และจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนเพื่อส่งออกและขายในประเทศควบคู่กับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน เพราะคู่ค้าของไทยหลายประเทศยังไม่พร้อมใช้รถยนต์ไฟฟ้าไปอีกหลายปี แต่อาจมีลูกค้าบางคนที่อยากใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไทยก็มีรถยนต์ไฟฟ้าส่งออกไปให้ใช้คู่กันไป ส่วนชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์สันดาปภายในก็ผลิตไปอีกหลายปี เพื่อส่งไปเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ไทยส่งออกรถยนต์ไปแล้วกว่า 17 ล้านคันนับตั้งแต่ปี 2531

  • คาดอีวีครองส่วนแบ่ง 15%

นายสุรพงษ์  กล่าวอีกว่า ยังไม่สามารถประเมินยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2567 ได้ในขณะนี้ แต่จากการประมาณการณ์ของบางหน่วยงาน เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวประมาณ 3-4% จึงคาดว่ายอดขายรถยนต์น่าจะเติบโตในอัตราเดียวกัน แต่ต้องติดตามเรื่องความเข้มงวดของการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย การส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยวจากต่างชาติซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งด้านการเมืองและการค้า และต้องดูตัวเลขการใช้จ่ายของรัฐบาลตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2567

“คาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าในปีหน้าจะมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเป็น 12-15% จากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 3.5 (EV3.5) ระยะที่ 2 ที่จะต้องได้รับเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ส่วนรถยนต์ไฮบริดที่มีเครื่องยนต์อยู่ด้วยซึ่งผลิตในประเทศไทยกว่า 10 ปีแล้วยังได้รับความนิยมในจำนวนมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า เติบโตตัวเลขสองหลักจากปีที่แล้ว คาดจะยังได้รับความนิยมจากการออกรถยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่ ๆ ในราคาที่แตะต้องได้”

อุตฯ รถยนต์ปี 67 มั่นใจโตตามเศรษฐกิจ “อีวี”รุ่ง คาดแชร์ตลาด 15%

  • ปัจจัยเสี่ยงใน-นอกยังอื้อ

นายสุรพงษ์ กล่าวถึง ปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2567 ว่า ปัจจัยลบจากต่างประเทศ ประกอบด้วย 1.ความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งระดับภูมิภาค และมากกว่าหนึ่งภูมิภาค 2.สงครามการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ 3.การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ 4.ราคาสินค้าพลังงานและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ แร่ธาตุและแรงงาน 5.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้ผลผลิตด้านเกษตรลดลง รวมทั้งปัญหาโลจิสติกส์

ส่วนปัจจัยในประเทศ ยังมีความเสี่ยงอยู่ 8 ด้าน คือ 1.หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะยังคงอยู่ในระดับสูง 2.อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง 3.ต้องติดตามค่าแรงว่าจะปรับขึ้นเท่าไร จังหวัดไหนขึ้นค่าแรงเท่าไร 4.ภัยแล้งจะรุนแรง และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด 5.การแจกเงินดิจิทัลอาจเลื่อนออกไป อาจส่งผลให้การเมืองมีปัญหา

6.งบประมาณอาจล่าช้ากว่าที่กำหนด จะส่งผลต่อการลงทุนของภาครัฐ 7. นักท่องเที่ยวจากจีนอาจไม่มากเท่าที่คาดไว้ จากยังมีปัญหาเศรษฐกิจภายใน 8.การส่งออกของสินค้าเกษตร เกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมอาจลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ทั้งหมดจะส่งผลต่อกำลังซื้อรถยนต์

  • 4 ด้านรัฐต้องเร่งรับมือ

จากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในภายนอกครั้งนี้ การรับมือของรัฐบาลก็มีตั้งแต่ที่ 1.นายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปต่างประเทศชักชวนให้นักลงทุนมาลงทุนในประเทศในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ จึงต้องเร่งรัดการอนุมัติการลงทุนให้รวดเร็ว ปรับปรุงการยื่นเอกสารต่าง ๆ ให้เท่าที่จำเป็น และทางดิจิทัลถ้าทำได้ เพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศในปี 2567 ซึ่งจะสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนไทยรับกับเศรษฐกิจโลก

2.กล้าจ้างคนต่างชาติที่มีความรู้ในเศรษฐกิจดิจิทัล เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีขั้นสูงและอื่น ๆ มาให้ความรู้คนไทยทั้งที่เรียนอยู่ และนักธุรกิจให้พร้อมรับกับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในอนาคต

3.ส่งเสริมให้คนไทยแต่งงานและมีบุตรมากกว่าสองคนเพื่อความสมดุลของประชากรในวัยทำงานให้เพียงพอกับงานในอนาคตที่มีรายได้สูงขึ้น ไม่ใช่สังคมผู้สูงอายุ

4.ทุกพรรคการเมืองร่วมมือร่วมใจสามัคคีปรองดองกันในการบริหารประเทศเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในผลลัพธ์ที่ต้องการและประหยัดในการเติบโตของเศรษฐกิจ คนไทยมีความสุขกับรายได้ที่มากขึ้น สุขภาพดีขึ้นและการศึกษาดีขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง

  • เพิ่มอีก 3 เรื่องช่วยประเทศ

นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า อยากจะฝากภาครัฐพิจารณาเพิ่มเสริมอีก 3 เรื่องคือ 1. เมื่อสร้างการลงทุน ในประเทศไทยแล้วก็ต้องสร้าง การขยายตลาดทั้งในประเทศไทยและส่งออกให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ด้วยการตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่น ๆ ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เมื่อมีการลงทุนมีการจ้างงานคนไทยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและจำนวนแรงงานมากขึ้น รายได้สูงขึ้น ผู้ลงทุนมีรายได้และกำไรจากตลาดต่างประเทศและในประเทศก็ลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น  ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

2.คิดหาวิธีการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติผ่าน ตม.เร็วที่สุด สะดวกที่สุด รวมทั้ง 3. การเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ต้องเข้าคิวรวมกับคิวคนไทย เพราะพวกเขามีเวลาอยู่ในประเทศไทยน้อย การประหยัดเวลาการเข้าคิวเพื่อให้เขาได้มีเวลามากขึ้นในการเข้าชมจะสร้างความรู้ความเข้าใจความพอใจได้มากขึ้นและทำให้พวกเขามีเวลาไปชมสถานที่อื่นได้มากขึ้นซึ่งจะทำให้ชุมชนนั้นมีรายได้มากขึ้น

"การท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยสร้างรายได้ให้คนไทยจำนวนมาก จึงต้องให้ความปลอดภัยทั้งด้านการป้องปรามด้วยการมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมรวมทั้งสถานที่อันตรายและสถานที่ไปเที่ยวกันน้อยโดยภาครัฐประสานกับโรงแรม หรือการท่องเที่ยวเพื่อรู้กำหนดการไปเที่ยวล่วงหน้า และเมื่อเกิดเหตุขึ้นต้องระงับเหตุได้รวดเร็วสามารถยุติหรือลดความรุนแรงจากเหตุร้ายได้ทันทีดังนี้ เป็นต้น"นายสุรพงษ์ กล่าว