“ไล่หนูตีงูเห่า” ปากพาจน? เจอร้องยุบพรรคเพื่อไทย

09 ส.ค. 2566 | 11:51 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2566 | 12:30 น.

“ไล่หนูตีงูเห่า” ปากพาจน? ร้องยุบพรรคเพื่อไทย : คอลัมน์คันฉ่องส่องการเมือง โดย... นาย NO VOTE หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3912

*** “กรณีไล่หนูตีงูเห่า ถือเป็นวิถีการหาเสียง แต่พรรคเพื่อไทย ไม่เคยประกาศเป็นศัตรูกับใคร เป็นเทคนิคการหาเสียงที่ทุกพรรคเป็นคู่แข่งทางการเมือง หลังจากประชาชนมอบอำนาจให้เรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องมาทำตามมติของประชาชน ถ้าสามาถร่วมทำงานกันได้ ก็มาเป็นรัฐบาลร่วมกันได้”  

นั่นคือ คำพูดของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่คำตอบถามผู้สื่อข่าวถึงการดึงพรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมรัฐบาล และได้แถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา

จากคำพูดดังกล่าว ได้กลายเป็นเหยื่อให้ “นักร้อง” อย่าง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นำไปตั้งเรื่องร้องเรียนต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สอบเอาผิด “พรรคเพื่อไทย” ถึงขั้น “ยุบพรรค” 

โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 66 นายเรืองไกร ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือถึง กกต. ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต.ดำเนินการตรวจกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 66 ที่พรรคเพื่อไทย ว่า 

“ไล่หนูตีงูเห่า  มันเป็นภาพของการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง กิจกรรมแต่ละครั้งจัดบนวัตถุประสงค์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ  มิติทางการเมือง เราไปขอเสียงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน เราไม่เคยประกาศว่าเราเป็นศัตรูกับใคร เราเป็นคู่แข่งกันจริง  เทคนิคการหาเสียง วิธีการหาเสียง ต่างฝ่ายต่างมี อันนี้เรียนด้วยความเคารพว่าเราไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกัน”   

นายเรืองไกร ชี้ว่า การให้สัมภาษณ์ของ นพ.ชลน่าน  มีการลงข่าวอย่างแพร่หลายรวมทั้งคลิปวิดีโอด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงเพียงพอที่ควรจะขอให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบ นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับพวก ว่าการหาเสียงดังกล่าวเข้าข่ายกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง หรือ ผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ด้วยวิธีการหลอกลวง หรือ จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร หรือ พรรคการเมือง ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  มาตรา 73 (5)  และจะมีโทษตาม มาตรา 159 หรือไม่  

สำหรับ มาตรา 159 กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 73 (3) (4) หรือ (5) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี  

และให้นำความในมาตรา 158 วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยนั้น มีเนื้อหาว่า ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดตาม มาตรา 75 หัวหน้าพรรคการเมือง หรือ กรรมการบริหารพรรค ของพรรคการเมืองนั้น ซึ่งรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง 

และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง   หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมืองนั้น และให้ถือเป็นเหตุที่จะ “ยุบพรรคการเมือง” นั้น ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

*** ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน ว่า หากบอกว่าสิ่งที่พูดในการหาเสียงนั้นไม่มีสาระ เป็นเพียงเพื่อการแข่งขันทางการเมือง 

1. ที่บอกว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ โดยมี สสร.ทันที อันนั้นก็หาเสียง 

2. ที่บอกว่า จะปฏิรูปกองทัพ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กำจัดธุรกิจผูกขาด ให้มีสุราเสรี อันนั้นก็พูดเพื่อให้ยังดูดี 

3. ที่บอกว่า จะให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็คงพูดไปงั้น ๆ

4. ที่บอกว่า ไม่เอา 2 ลุง เดี๋ยวลุงแกก็มา เชื่อเหอะ
ยังจะเหลืออะไรให้เชื่อได้บ้าง ปากพาพินาศจริง

*** นอกจาก “งาน” จะเข้าพรรคเพื่อไทยแล้ว “เผือกร้อน” ยังไปอยู่ในมือ กกต. อีกเรื่องหนึ่ง ...มารอดูกันว่าเรื่องนี้จะลงเอยเช่นไร