สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จี้รัฐดัน “4 เพิ่ม 4 ลด” ปลุกเศรษฐกิจปี 65 พ้นเหว

14 ม.ค. 2565 | 15:04 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2565 | 22:31 น.
703

การแพ่ระบาดของโรคโควิด ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงมากสุดต่อเศรษฐกิจไทยปี 2565 และจะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ระบุมี "4 เพิ่ม 4 ลด" ที่จะฉุด ศก.ไทยให้พ้นเหวได้

 

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จี้รัฐดัน “4 เพิ่ม 4 ลด” ปลุกเศรษฐกิจปี 65 พ้นเหว

ปี 2565 ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี)ไทย จะขยายตัวได้ที่ 3% ถึง 4.5% ส่งออกขยายตัว 3-5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากปี  2564  คาดจีดีพีไทยจะขยายตัว 0.5% ถึง 1.5% และส่งออกคาดขยายตัว 13-15% โดยปัจจัยเสี่ยงมากสุดต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงอยู่เป็นปีที่ 3 และจะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี

 

นายแสงชัย   ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจและเอสเอ็มอีไทยในปีนี้ ได้แก่ 1.นโยบายและแผนกลยุทธ์ภาครัฐ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์และความรุนแรงของโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยน แปลงไปรวดเร็ว รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศเดินต่อไปได้ โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ผลิตวัคซีน, ATK, ยารักษาโควิด-19, เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นที่เน้นการพึ่งพาภายในประเทศ และทันต่อสถานการณ์

 

 

2.การเข้าถึงมาตรการภาครัฐของประชาชนและเอสเอ็มอี โดยหลายมาตรการภาครัฐที่ออกมาชื่นชมว่าดีและมีประโยชน์ แต่ขาดการบูรณาการเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การเข้าถึงทำได้ไม่ครอบคลุม การสร้างการมีส่วนร่วมน้อย ดังนั้นจึงต้องติดตามประเมินปรับปรุงประสิทธิภาพทุกมาตรการ

 

แสงชัย  ธีรกุลวาณิช

 

“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่าร้อยละ 90 ได้รับผลกระทบจากโควิด ปัญหาและอุปสรรคของการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ คือ ขาดคุณสมบัติในการขอรับการช่วยเหลือร้อยละ 39.9 มีความช้า ข้อผิดพลาด ขั้นตอนที่ยุ่งยากของระบบร้อยละ 38.6 จำนวนมาตรการและการเยียวยาน้อยไปร้อยละ 8.2 การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่ชัดเจน เข้าใจยาก ร้อยละ 7.7 นอกจากนี้ปัญหาสำคัญ คือ เครดิตการค้ามีเอสเอ็มอีไม่ได้รับเครดิตต้องใช้เงินสด รายย่อยร้อยละ 70 รายย่อยร้อยละ 60 รายกลางร้อยละ 39 และเอสเอ็มอีกว่าร้อยละ 60 ยังเข้าไม่ถึงช่องทางการขายออนไลน์ เป็นต้น”

 

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จี้รัฐดัน “4 เพิ่ม 4 ลด” ปลุกเศรษฐกิจปี 65 พ้นเหว

 

สำหรับเครื่องมือปลุกเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศปีนี้ มองว่ามี “4 เพิ่ม 4 ลด” โดย 4 เพิ่มได้แก่ 1.เพิ่มการลงทุนภายในประเทศ โดยสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ควบคู่การลงทุน “คน” ให้องค์ความรู้ สามารถลงมือทำได้ผลจริง เน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในปัจจุบันและอนาคต อาทิ การค้าพาณิชย์ดิจิทัล เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งปรับแผนเร่งพัฒนาและส่งเสริมการลงทุน EEC และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดน การส่งเสริมธุรกิจ BCG Economy ที่เป็นรูปธรรม “สร้างเอสเอ็มอีสีเขียว” (Green SME) ธุรกิจที่มีการลดการปล่อย CO2 มีวงจรชีวิตผลิต ภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Assessment) เป็นต้น

 

2.เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ พร้อมสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้มาพัฒนาเอสเอ็มอี ช่วยเหลือสนับสนุนแหล่งทุนต้นทุนต่ำ เว้นการเก็บภาษีรายย่อยทุกประเภท เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าให้โอกาสธุรกิจรายย่อย เป็นต้น

 

 3.เพิ่มการบริโภคภาครัฐ โดยเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผลิตภัณฑ์และบริการของเอสเอ็มอีจากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 50 และปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค

 

 4.เพิ่มการส่งออก โดยส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ จากปัจจุบันเอสเอ็มอีส่งออกร้อยละ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพียง 27,000 รายที่อยู่ในภาคการส่งออก

 

ขณะที่ “4 ลด” ได้แก่ 1.ลดการนำเข้า โดยการส่งเสริมพัฒนาให้เอสเอ็มอีเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องนำเข้าและมีมูลค่าสูง 2.ลดต้นทุนค่าครองชีพประชาชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ ลดค่าไฟฟ้าโดยการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ลดค่าขนส่งสินค้าโดยพัฒนาและบูรณาการศูนย์กระจายสินค้าเอสเอ็มอี พัฒนา Super e-government platform เพื่อพัฒนา OSS Digital services platform เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ

 

3.ลดสารพัดหนี้ (ลดหนี้เสีย ลดหนี้นอกระบบ ลดหนี้ครัวเรือน) ฟื้นฟูคืนเอสเอ็มอีที่แข็งแรงกลับเข้าระบบ โดยการกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่จะทำให้เอสเอ็มอีมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ  และ 4.ลดการว่างงาน โดยลงทุนสร้างงานให้คน ให้คนว่างงานมีอาชีพ มีงานทำ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้ เพิ่มอำนาจซื้อในมือประชาชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ การทำ แฟรนไชส์ไทย สร้างงาน สร้างอาชีพ และมีข้อมูลการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบเรียลไทม์ ช่วยการติดตามพัฒนาให้ตรงตามความต้องการอย่างต่อเนื่องทั้งแรงงานและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น

 

“คาดการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะกลับมาเติบโตอย่างช้า ๆ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชนต้องให้ความสำคัญ คือ “Technology Disruption” ที่จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถูกขยายความเหลื่อมล้ำออกไปในวงกว้าง เช่นเดียวกับประชนกลุ่มรายได้น้อย หรือ ยากจน ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ” นายแสงชัย กล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3748 วันที่ 13 – 15 มกราคม 2565