เรียกค่าเสียหายเหตุเสียชีวิตจากกิจกรรมฟื้นฟูปะการัง

21 พ.ย. 2564 | 14:11 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2564 | 21:17 น.
928

เรียกค่าเสียหายเหตุเสียชีวิตจากกิจกรรมฟื้นฟูปะการัง : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย... นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3732 หน้า 5

“ปะการัง” อัญมณีแห่งท้องทะเลที่นอกจากจะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัย ที่หลบภัย และแหล่งสืบพันธุ์ของสัตว์ทะเลนานาชนิด ปัจจุบันจะพบว่าแนวปะการังได้เกิดความเสื่อมโทรมขึ้นอย่างรวดเร็ว และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นฟู 

 

กิจกรรมฟื้นฟูแนวปะการัง จึงถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยให้แนวปะการังคงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติเพื่อชนรุ่นหลังได้ศึกษาและชื่นชมสืบต่อไป ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวของหน่วยงานของรัฐมักจะมีนักดำน้ำอาสาสมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย

วันนี้ ... นายปกครองก็มีกรณีตัวอย่างที่ถือเป็นอุทาหรณ์เพื่อเพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้

 

มูลเหตุของคดีเกิดจาก ... สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) ได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูปะการัง โดยร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัคร 26 คน รวมทั้งบุตรสาวของผู้ฟ้องคดีด้วย โดยในขณะปฏิบัติกิจกรรมในทะเลลึกประมาณ 6 เมตร บุตรของผู้ฟ้องคดีได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือและผู้ร่วมกิจกรรมได้นำตัวขึ้นมาบนผิวน้ำ จากนั้นก็เกิดการหายใจไม่ออกและหมดสติ จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องของอุปกรณ์ดำน้ำหรือการบรรจุก๊าซออกซิเจนไม่เต็มถัง ทำให้ออกซิเจนไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีขาดอากาศหายใจ อันเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ตรวจสอบอุปกรณ์ดำน้ำให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยก่อนนำไปใช้งาน ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธไม่ชดใช้เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของตนไม่ได้กระทำละเมิด

 

ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าปลงศพและค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูผู้ฟ้องคดีและบุตรของผู้ตาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,400,000 บาท

 

คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ ?

 

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว จะเห็นได้ว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แยกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

 

1. การกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น

 

และ 2. การกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าดังกล่าวเกินสมควร

 

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีไม่ตรวจสอบอุปกรณ์ดำน้ำก่อนนำไปใช้งาน เป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิต จึงเป็นการกล่าวอ้างเกี่ยวกับมูลเหตุของการกระทำละเมิดที่เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ 

 

เมื่อการจัดกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรปะการังอยู่ภายใต้ภารกิจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดังนั้น การจัดกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรปะการังจึงอยู่ในขอบเขตหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหนด

 

และการตรวจสอบอุปกรณ์ดำน้ำ ถือเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว กล่าวคือ หากผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติย่อมทำให้ภารกิจนั้นไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูแนวปะการังจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ย่อมต้องมีอุปกรณ์การดำน้ำที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยในการใช้งาน

 

กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง  ดังนั้น เมื่อมูลเหตุของการกระทำละเมิดอันเป็นเหตุที่มาของการที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว คดีพิพาท

 

ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่พอใจผลคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่ปฏิเสธไม่ชดใช้ค่าเสียหาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกัน โดยจะต้องยื่นฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลไม่ชดใช้ค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ศาลปกครองสูงสุดจึงกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ. 51/2563)

 

คดีนี้... ถือเป็นข้อพึงระวังสำหรับหน่วยงาน หรือ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมฟื้นฟูแนวปะการังหรือกิจกรรมใด ๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด โดยจะต้องตรวจสอบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย กรณีเจ้าหน้าที่ละเลยไม่ตรวจสอบและเกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลภายนอก ถือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง มิใช่เป็นกรณีการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทั่ว ๆ ไป ที่จะอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมครับ ...

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง 1355)