ห้ามเป็นทนายความ 3 ปี เพราะปกปิดค่าธรรมเนียมศาลที่เปลี่ยนแปลง!

17 ต.ค. 2564 | 06:29 น.
1.2 k

ห้ามเป็นทนายความ 3 ปี เพราะปกปิดค่าธรรมเนียมศาลที่เปลี่ยนแปลง! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,723 หน้า 5 วันที่ 17 - 20 ตุลาคม 2564

ในการประกอบวิชาชีพต่างๆ  ย่อมมีข้อบังคับเกี่ยวกับจริยธรรมหรือจรรณยาบรรณแห่งวิชาชีพเพื่อกำกับควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ เช่นคดีที่นำมาเล่าในวันนี้ ... เป็นเรื่องของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความซึ่งไม่ซื่อตรงต่อลูกความและถูกสภาทนายความลงโทษ พฤติกรรมที่ถือว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความในคดีดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ตามนายปกครองมาครับ... 

 

มูลเหตุของคดีเกิดจาก ... ผู้ฟ้องคดีประกอบอาชีพทนายความได้ตกลงทำสัญญารับจ้างว่าความให้กับนางสาว เอในฐานะโจทก์เพื่อดำเนินคดีในการถอนชื่อนาย บี ออกจากบัญชีเงินฝากของนางสาว เอ ซึ่งเป็นคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล 16,000 บาท แต่นางสาว เอ ไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ ศาลจึงจำหน่ายคดีออกจากสารบทความ

 

ต่อมา นางสาว เอ ได้มอบเงิน 20,000 บาท ให้กับผู้ฟ้องคดีเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นฟ้องคดีใหม่ โดยได้ยื่นฟ้องนาย บี ในข้อหาแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งศาลกลับเห็นว่าเป็นเรื่องปลดเปลื้องทุกข์คดีไม่มีทุนทรัพย์ จึงเสียค่าธรรมเนียมศาลเพียง 200 บาทแต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้นางสาว เอ ทราบและไม่ได้คืนเงินส่วนที่เหลือ

 

ต่อมา ก่อนวันนัดสืบพยาน นางสาว เอ และ นาย บีตกลงกันได้ นางสาว เอ จึงได้จ่ายค่าจ้างว่าความให้แก่ผู้ฟ้องคดี 50,000 บาท หลังจากนั้น ได้ยื่นขอถอนฟ้องและศาลมีคำสั่งอนุญาต 

 

ในวันนัดสืบพยานผู้ฟ้องคดีไม่ไปศาลและไม่แจ้งให้ นางสาว เอ ทราบ นางสาว เอ จึงยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสภาทนายความกล่าวหาผู้ฟ้องคดีว่า ได้รับเงินว่าจ้างดำเนินคดีแล้วทิ้งคดีทำให้ตนเสียหาย จึงขอให้คืนเงิน 70,000 บาท  โดยคณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานนั้นไม่เป็นการทิ้งคดี เพราะศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ถอนฟ้องแล้ว 

 

แต่การที่ผู้ฟ้องคดีรับเงินจากนางสาว เอ จำนวน 20,000 บาท แล้วได้วางเงินค่าธรรมเนียมศาลเพียง 200 บาท และไม่แจ้งให้นางสาว เอ ทราบ ถือเป็นการปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ และใช้อุบายด้วยประการใดๆ เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลงสัญญาให้ ตามข้อ 12 (2) ข้อ 14 และข้อ 18 ของข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 อันเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความจึงให้ลงโทษลบชื่อผู้ฟ้องคดีออกจากทะเบียนทนายความ

 

ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ โดยสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความวินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีรับเงินมา 20,000 บาท แต่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมศาลเพียง 200 บาท เมื่อถอนฟ้องแล้วจึงต้องคืนให้ลูกความ การที่ไม่คืนเงินดังกล่าวเป็นกรณีฉ้อโกง ยักยอก หรือตระบัดสินลูกความ หรือหน่วงเหนี่ยวเงินของลูกความไว้นานเกินกว่าเหตุตามข้อ 12 (2) ข้อ 15 และข้อ 18 ของข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความฯ จึงมีคำสั่งให้แก้คำสั่งเป็นห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 3 ปี  

 

 

ห้ามเป็นทนายความ 3 ปี เพราะปกปิดค่าธรรมเนียมศาลที่เปลี่ยนแปลง!

 

 

ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว โดยอ้างว่าการไม่คืนเงินส่วนที่เหลือจากค่าธรรมเนียมศาลในตอนนั้น เพราะหากจำเลยต่อสู้คดีจะกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้ฟ้องคดีก็จะได้นำเงินที่เหลือไปชำระค่าธรรมเนียมศาล อีกทั้งเงินส่วนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายเหมารวม

 

คดีมีประเด็นปัญหาว่า คำสั่งห้ามผู้ฟ้องคดีทำการเป็นทนายความมีกำหนด 3 ปี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

 

 

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีอาชีพเป็นทนายความมีหน้าที่ช่วยเหลือ ลูกความด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมศาล ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงให้ลูกความทราบ รวมทั้งยังคงมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าธรรมเนียมศาลในส่วนที่เหลือ

 

พฤติกรรมของผู้ฟ้องคดี ถือเป็นการปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ และยักยอก หรือ ตระบัดสินลูกความ หรือ ครอบครอง หรือหน่วงเหนี่ยวเงินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ อันเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อ 12 (2) ข้อ 15 และข้อ 18 ของข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ดังนั้น คำสั่งห้ามผู้ฟ้องคดีทำการเป็นทนายความกำหนด 3 ปี จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 124/2563) 

 

คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ซึ่งต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเช่นเดียวกับ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอื่น โดยมีบทลงโทษกรณีกระทำผิดมรรยาททนายความไว้ 3 สถาน คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุด

 

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมศาล ถือเป็นหน้าที่ของทนายความที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงให้ลูกความทราบ รวมทั้งยังคงมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าธรรมเนียมศาลในส่วนที่เหลือคืนให้แก่ลูกความด้วย