THAI poor TEAM ฉากที่ 9 จุดแข็ง-จุดอ่อนของทีม

09 ต.ค. 2564 | 06:30 น.

THAI poor TEAM ฉากที่ 9 จุดแข็ง-จุดอ่อนของทีม : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3721 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-13 ต.ค.2564

ถ้ามีใครถามว่า อะไร คือ สนิมในทีม ที่ กัดกร่อนให้ THAI poor TEAM คำตอบมีอยู่ในนิทาน อีสป ที่ท่านเล่าไว้สุดเด็ดสะระตี่ว่า หมาป่าคลอดลูกมา 4 ตัว เมื่อลูกแข็งแรงเดินได้มันก็พาลูกเดินเล่น ครั้นเดินผ่านหน้าถ้ำเจ้าป่าก็เจอสิงโตยืนอยู่ หมาป่าก็แซวสิงโตว่า “ท่านเป็นถึงเจ้าป่าเสียเปล่า มีลูกแค่ตัวเดียว ดูเราสิ มีลูกตั้ง 4 ตัว” สิงโตก็บอกว่า “ข้ามีลูกเพียงตัวเดียวก็จริง แต่มันลูกสิงโต ไม่ใช่ลูกหมา?” (ซี๊ด!)

 

ผมขออนุญาตไม่เอ่ยนามผู้ที่พูดว่า “เมื่อฉันโตขึ้นรู้อะไรมากขึ้น ฉันค้นพบว่ามี 6สิ่งในบริษัทของฉัน ที่ฉันชอบมันจริงๆ คือ วันจ่ายเงิน เวลาพักเที่ยง เวลาพักร้อน วันหยุด เวลาลาออก กับ วันกินบำเหน็จ” (ฮา)

 

เหตุผลที่ผมไม่เอ่ยนามเพราะผมจะถามว่า ท่านลองนึกดูสิว่า คนผู้นี้เป็นลูกใคร!

 

ผู้จัดการฝ่ายโรงงาน บริษัท ไซโก้ เล่าให้ฟังว่า คนที่จะรับเข้ามาทำงานจะต้องสูงอย่างน้อย 150 ซ.ม. ถ้าสูงน้อยกว่านั้นก็จะประกอบชิ้นส่วนนาฬิกาลำบาก เนื่องจาก ส่วนไม่สูงมันไม่สมดุลกับระดับสายพาน (ฮา) ใครเดินหัวสะกิดเชือกที่ขึงไว้ในระดับความสูง 150 ซ.ม. จะมีโอกาสเข้าทำงาน

 

สาวผู้หนึ่งมีสายพันธุ์เดียวกันกับผม เธอสูง 145 ซ.ม. เดินผ่านแล้วเชือกไม่สั่น ผู้จัดการพูดสั้นๆว่า “กลับบ้าน!” เธอจ๋อยนิดหนึ่งแต่ยังไม่ยอมแพ้ ยกมือไหว้แล้วบอกว่า “หนูยินดีทดลองงานหนึ่งเดือนโดยไม่รับค่าตอบแทน ถ้าหนูทำได้ ท่านช่วยหนูไว้ด้วยเถอะค่ะ” ผู้จัดการชั่งใจแล้วบอกว่า “เอาสิ?” เธอไปหาลังไม้มาแต่งเป็นแท่นรองให้ยืนสูงพอดีกับระดับสายพาน มาก่อนเวลาเริ่มงานทุกวัน ผู้จัดการพอใจรับไว้เป็นพนักงานจ่ายเงินเดือนในช่วงลองของให้ด้วย

          

ท่านลองนึกดูสิว่า คนผู้นี้เป็นลูกใคร!

                                               THAI poor TEAM ฉากที่ 9 จุดแข็ง-จุดอ่อนของทีม

บริษัทการเงิน จัดสัมมนาผู้บริหารกันที่ ระยอง เขาจ้าง บริษัทการทอง ให้จัดหากูรูไปเมาท์ช่วงสองทุ่ม บริษัทการทอง ติดต่อขอให้กูรูรีบออกเดินทางจากกรุงเทพอย่างช้าสุด สี่โมงเย็น ปรากฏว่า กูรูบางคนก็ชวนกูรูบางคนนั่งดูคลิปของคนบางคนที่นุ่งผ้าบ๊างบาง [ฮา] ไม่ได้ดูเพลินไปหน่อย

 

ดูจากตะวันลอยจนตะวันใกล้จม ตาลีตาเหลือกออกเดินทาง ห้าโมงครึ่ง ถ้าไปมันโง่ๆ ใช้เส้นทางสุขุมวิทมีสิทธิ์ซิ่งทัน พี่แกเลือกทางลัด สมัยนั้น Google Map ก็ยังไม่มี สองทุ่มยังหลงทางวนอยู่แถวปลวกแดง จ๊อบนั้นโดนปลวกแด๊กทั้งก๊วน (ฮา) ไปถึงห้องประชุม สามทุ่มครึ่ง กูรูยืนอึ้ง บริษัทการเงิน ไม่จ่ายค่าแรง บริษัทการทอง ก็พลอยโดนแกงไปด้วย

 

ท่านลองนึกดูสิว่า กูรูผู้นี้เป็นลูกใคร!

 

เพื่อนผมเล่าว่า อาจารย์ผู้หนึ่งนิสัยท่านสบายๆ เดินเอื่อยๆ เหมือนนกอิ่มหนอน สมัยที่ตำรวจจราจรเขาคึกคักปักหลักจับคนข้ามถนนนอกทางม้าลาย มีคนเดินข้ามถนนหน้าวัดชนะสงครามนอกทางม้าลายสิบกว่าคน อาจารย์เดินรั้งท้ายสุด จ่าตัวจี๊ดเขายืนเหล่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ ได้ทีก็ก้าวสวบๆ มาคว้าแขนอาจารย์ดึงแขนไปปรับโทษฐานไม่ข้ามทางม้าลาย อาจารย์เขาตัดพ้อจราจรว่า “ข้ามกันตั้งหลายคน ทำไมถึงจับผมคนเดียว” จ่าตอบสวนหน้าตาเฉยว่า “ตำรวจคนเดียวก็จับได้แค่คนเดียว ผมไม่ใช่ชาวประมง จะได้เหวี่ยงแหจับทั้งกลุ่ม” [ฮา]

เรื่องนี้ไม่จบแค่นั้น ในขณะที่จ่าแกกำลังเขียน ใบเสร็จที่ยังเขียนไม่เสร็จ แกต้องพับใบไม่เสร็จเก็บใส่กระเป๋า เนื่องจาก มีบุรุษชุดสีเขียวขี้ม้าสวมปลอกแขนสีแดงเข้มสองนาย เดินข้ามถนนนอกทางม้าลายตรงจุดเดียวกันเลย อาจารย์ได้ทีแกรีบสะกิดแขนจ่าพร้อมกับพูดว่า

 

“จ่าๆ ตะกี้จ่าคนเดียวสะดวกจับผู้ต้องหาเพียงรายเดียว โน่นไง มีคนทำผิดอีกสองราย เราสองคนไปช่วยกันจับไอ้สองรายนั่นกันเลย โอ.เค.ไหมจ่า” [ฮา]

 

ท่านลองนึกดูสิว่า อาจารย์หัวศรีธนญชัยผู้นี้เป็นลูกใคร!

 

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ไวรัส “ไม่เป็นไร” กับ ไวรัส “ช่างมันเถอะ” มันเป็นโรคติดต่อที่ไม่มีวัคซีนรักษา

 

ต้องรอให้เกิดผลข้างเคียง คือ วรรคซวย ก็จะตื่นตูมมากกว่าตื่นตัว ใครเป็น นายหัวทีมเวิร์ค น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า จุดแข็งของแต่ละคนเป็นกระดูกสันหลังของทีม แต่ทว่า กระดูกสันหลังของแต่ละคนก็อาจจะเป็นจุดอ่อนของทีม

 

กลุ่มใดช่วยกันคนละไม้คนละมือถือว่าเป็น “ทีมเวิร์ค” กลุ่มใดวางกันคนละไม้คนละมือถือว่าเป็น “ทีมเวิร์ส”

 

ความคิดไฮไลท์ในย่อหน้านี้ เกิดจากข้อคิดของ ฟิล แจ็คสัน จอห์น เฮย์วูด และ ผม ผู้มีส่วนร่วมในการต่อยอด เหตุที่ผมอ้างอิงนามทั้ง 2 กูรูนำหน้า เพราะว่าตำรวจคนดัง เซอร์ปิโก้ คนดัง โชคร้ายตรงที่ สื่อมักจะโปรโมทเขาเป็นพระเอก ทิ้งให้ผู้ร่วมทีมเงียบเหงา

 

จ๊อบสุดท้ายที่บุกจับแก๊งค้ายา ทุกนายปล่อยเกาะให้ เซอร์ปิโก้ โดนล้อมยิง กระสุนเข้าทางหูทะลุปาก ดีที่ไม่ตาย เรื่องของเรื่องเพราะไม่รู้ หลัก 5 ร่วม จึง “ไม่ร่วมกิน” คือ ไม่แบ่งหน้าให้ใคร นั่น…เอ๋ง! เอ๋ง! เอ๋ง!