จีนจะได้ประโยชน์อะไรจากการจับมือกับตาลีบัน (จบ)

12 ก.ย. 2564 | 11:31 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2564 | 18:44 น.
2.0 k

จีนจะได้ประโยชน์อะไร จากการจับมือกับตาลีบัน (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

จีนได้พยายามเปลี่ยนภูมิภาคดังกล่าวให้เป็นเสมือน “ทะเลบก” เพื่อช่วยลดข้อจำกัดของพื้นที่ด้านซีกตะวันตกของจีนที่ไม่ติดทะเล เป็นจุดยุทธศาสตร์ “กันชน” หลังบ้าน และเชื่อมต่อกับพื้นที่เศรษฐกิจที่ใหญ่กว่ามากในภูมิภาคเอเซียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป

 

การแถลงข่าวของกลุ่มตาลีบันที่แสดงจุดยืนว่าจะรับผิดชอบต่อการปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของชาวอัฟกันและนักลงทุนต่างชาติอย่างจริงจัง และพร้อมจะเดินหน้าสานความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นสัญญาณเชิงบวก

 

การจับมือระหว่างจีนกับกลุ่มตาลีบัน นอกจากจะเปิดโอกาสให้จีนสามารถขยายความร่วมมือระหว่างจีนกับอัฟกานิสถานได้โดยตรงแล้ว จีนยังสามารถใช้ประโยชน์จากอัฟกานิสถานเป็น “แลนด์ลิ้งค์” (Land-Linked) เสมือนเป็นจิ๊กซอว์ตัวใหญ่ด้านลอจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคในแถบนั้นให้เกิดความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ เอเซียกลาง-เอเซียใต้ และเอเซียใต้-ตะวันออกกลาง

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนได้เข้าไปพัฒนาความร่วมมือกับหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งปากีสถานและอิหร่าน การพัฒนาโครงข่ายของอัฟกานิสถานซึ่งอยู่ขั้นกลางระหว่างสองประเทศจะทวีกำลังในเชิงเศรษฐกิจ การค้า และลอจิสติกส์ ระหว่างกัน

การปรับปรุงโครงข่ายถนนในบางเส้นทางสามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วพริบตา ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางถนนจากกรุงคาบูล-กรุงอิสลามาบัด ผ่านเพชาวอร์ เมืองอัญมณีบริเวณชายแดนด้านซีกตะวันตกของปากีสถาน ซึ่งมีระยะทางเพียง 470 กิโลเมตร เส้นทางนี้ถูกใช้ในการขนส่งเสบียงไปให้กองกำลังทหารของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในอฟกานิสถานในอดีต

 

แถมเส้นทางท่อนเพชาวอร์-อิสลามาบัด ก็ยังอยู่ในสภาพที่ดี ซึ่งเท่ากับว่า ในระยะเร่งด่วน หากจีนลงทุนปรับปรุงสภาพถนนท่อนคาบูล-เพชาวอร์ ซึ่งมีระยะทางราว 250 กิโลเมตรก็จะสามารถเปิดการเชื่อมโยงระหว่างอัฟกานิสถานกับเอเซียใต้ได้แล้ว ทำนองเดียวกันอาจเกิดขึ้นระหว่างคาบูลกับเมืองสำคัญในอิหร่าน และหัวเมืองอื่นในภูมิภาคใกล้เคียง

 

ประการที่ 4 ยุทธศาสตร์ในภูมิภาค เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ภายหลังการดำเนินนโยบายพัฒนาตอนกลางและซีกตะวันตกของจีนมาอย่างต่อเนื่องจนเริ่มสุกงอม จีนก็ทะลุทะลวงออกสู่ต่างประเทศผ่านด้าน “หางไก่” พร้อมกับการให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายภูมิภาคเอเซียกลาง

 

นับแต่ปี 2001 จีนได้ผลักดันเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคผ่านการจัดตั้งกรอบความร่วมมือ Shanghai Cooperation Organization (SCO) โดยต่อยอดจากกลุ่มความร่วมมือ Shanghai Five ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996

 

SCO ถือเป็นกรอบความร่วมมือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในเชิงจำนวนประชากร และขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ โดยมีสมาชิก 8 ประเทศในปัจจุบัน อันได้แก่ จีน รัสเซีย คาซักสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกีสถาน ปากีสถาน อินเดีย และอุซเบกีสถาน

จีนในฐานะประเทศผู้นำของกลุ่มความร่วมมือนี้ ได้สร้างเวทีความร่วมมือที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานแสดงสินค้าในหัวเมืองสำคัญของจีน และการประชุมสุดยอดและระดับรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละครั้งก็มีผู้แทนของประเทศสมาชิกและผู้สังเกตการณ์จากหลายชาติเข้าร่วมประชุมด้วย และอัฟกานิสถานในโฉมใหม่อาจกลายเป็นสมาชิกรายถัดไปของกลุ่มนี้ได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ นับแต่ปี 2010 จีนได้เข้าไปมีบทบาทมากกว่าประเทศใดในภูมิภาคเอเซียกลาง หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำไม่นาน สี จิ้นผิง ก็แสดงให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญอย่างมากกับเอเซียกลาง โดยนำคณะเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์กับ 4 ประเทศที่ลงท้ายด้วย “สถาน” ในภูมิภาคดังกล่าว พร้อมกับการเปิดตัวนโยบาย “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt & Road Initiative) ซึ่งกลายเป็นรากฐานของกรอบความร่วมมือใหม่ที่เสริมความแข็งแกร่งในหลายมิติในเวลาต่อมา

 

ขณะเดียวกัน ความสงบในอัฟกานิสถานจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เวลา และทรัพยากรอื่นในการพัฒนาความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นประโยชน์ต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน และส่งผลดีต่อการขยายความร่วมมือภายในและระหว่างภูมิภาคภายใต้ BRI และ SCO ได้ในระยะยาว

 

นอกจากนี้ ดุลอำนาจในภูมิภาคก็กำลังเปลี่ยนขั้ว จากเดิมที่สหรัฐฯ ต้องการใช้อัฟกานิสถานช่วยล้อมจีน แต่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้จีนกลับมีแนวร่วมเพิ่มขึ้น หากเราดูประเทศพันธมิตรในภูมิภาคแถบนั้นแล้ว กลับกลายเป็นว่าอินเดีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกกำลังตกเป็นฝ่ายผู้ถูกปิดล้อมแทน

 

สถานการณ์เช่นนี้อาจกดดันให้อินเดียอาจต้องเริ่มคิดทบทวนถึงการเปลี่ยนขั้ว ซึ่งรัสเซียจะมีอิทธิพลอย่างมาก และอาจทำให้หน้าตาของยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้ในเวทีโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองในย่านนี้ในระยะยาว

 

มาถึงวันนี้ การนับหนึ่งใหม่ของอัฟกานิสถานได้เริ่มต้นขึ้นแล้วโดยได้รับการสนับสนุนจากขั้วใหม่อย่างจีน รัสเซีย และชาติพันธมิตร แต่ความสงบที่แท้จริงก็อาจยังไม่เกิดขึ้น สหรัฐฯ อาจเปลี่ยนยุทธวิธีหันมาใช้กองกำลังใต้ดินซุ่มโจมตีกองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานและกลุ่มชาติพันธมิตรใหม่บ้าง จนไม่มีใครกล้ารับประกันว่า การเริ่มนับใหม่ครั้งนี้จะไปไกลเพียงใด

 

เพื่อได้รับประโยชน์อย่างที่คาดหวังไว้ในระยะยาว จีนจะต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร เร่งปิดรูโหว่ที่ขั้วอำนาจเดิมทิ้งไว้ และตอบแทนความไว้วางใจของกลุ่มตาลีบันที่มีต่อจีนและขั้วอำนาจใหม่

 

เราลองติดตามดูกันต่อไปว่า จีนจะช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพความมั่นคง ลดปัญหาคอรัปชั่น จัดระเบียบเศรษฐกิจ และปัดเป่าความยากจนให้หมดสิ้นจากอัฟกานิสถานเหมือนที่ทำสำเร็จในจีนได้หรือไม่ อย่างไร

 

แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็คิดว่าไม่ยากเกินไปสำหรับพญามังกร ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,713 วันที่ 12 - 15 กันยายน พ.ศ. 2564