อานิสงส์“โควิด” ดันถุงมือยางมาเลเซีย "ครองโลก"

14 ส.ค. 2564 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2564 | 21:50 น.

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะสถานการณ์โรคโควิดเป็นเหตุ เมื่อไรก็ตามที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น “อุตสาหกรรมถุงมือยางจะขยายตัวก้าวกระโดดเสมอ”

 

อานิสงส์“โควิด” ดันถุงมือยางมาเลเซีย \"ครองโลก\"

 

อดีตที่ผ่านมาการมีโรคเอดส์ (1987) ทำความต้องการถุงมือยางขยายตัว +10%  โรคซาร์ส (2003) ความต้องการถุงมือยางขยายตัว  +10% และโรคไข้หวัดใหญ่ (H1N1, 2009) ความต้องการถุงมือยางขยายตัว +13%  และผลจากโควิดรอบนี้ ทำให้ความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้น 20% (EIC, 2020) และจะทำให้การผลิตถุงมือยางของโลกเพิ่มขึ้นเช่นกันเฉลี่ยปีละ 12–15% (YUSOF ISHAK INSTITUTE ANALYSE CURRENT EVENT, 2020)   

 

เมื่อพิจารณาขนาดตลาดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยบุคคล (Personal Protection Equipment : PPE) เพื่อป้องกันเชื้อโรคในตลาดโลก พบว่าถุงมือยางเป็นอุปกรณ์ป้องกันโรคที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด (33%) ตามด้วยอุปกรณ์ป้องกันการหายใจ (Respiratory Protection) (19%) ชุดป้องกัน (12%) และป้องกันตา (10%) นั้นแสดงว่า “ตลาดถุงมือยางเป็นตลาดที่มีมูลค่ามากที่สุด” โดยแบ่งออกเป็นตลาดถุงมือยาง 70% และถุงมือชนิดอื่น (ผ้า และหนัง) สัดส่วน 30% (World Health Organization; World Bank; Frost & Sullivan Report)

 

โลกเริ่มรู้จักใช้ถุงมือยางอย่างกว้างขวางหลังจากมีการระบาดของโรคเอดส์ในปี 1987 โดยในปีนั้นพบผู้ป่วยในสหรัฐฯ และยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ของสหรัฐอเมริกา ต้องออกรายงานเมื่อ สิงหาคม 1987 ว่า “ปี 1987 เป็นปีระวังโรคเอดส์สากล (1987 Universal Precaution)” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสหรัฐฯ และทั่วโลกมีความต้องการถุงมือยางทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มาเลเซียชักชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา

 

อานิสงส์“โควิด” ดันถุงมือยางมาเลเซีย \"ครองโลก\"

 

 

โดยการผลักดันของสถาบันวิจัยยางมาเลเซีย (The Rubber Research Institute of Malaysia : RRIM ตั้งเมื่อ 1925) เพราะในสมัยนั้นมาเลเซียมีวัตถุดิบยางพารามากและขายเป็นวัตถุดิบไปในตลาดโลก  มาเลเซียจึงเริ่มผลิตถุงมือยางธรรมชาติอย่างจริงจังในปี 1987 จากผลิต 18,000 ตัน หรือ “1 ล้านคู่” และในปี 2000 ผลิตเพิ่มเป็น 11,000 ล้านคู่ และปี 2021 คาดว่ามาเลเซียผลิตอยู่ที่ “9.5 หมื่นล้านคู่” ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของส่วนแบ่งการผลิตในตลาดโลก (ปี 2021 ผลผลิตของถุงมือยางโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านชิ้น)

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 1990 มาเลเซียเริ่มต้นผลิตถุงมือยางสังเคราะห์ประเภทไนไตร (Nitrile) เพราะระหว่างปี 1987-1990 คนใช้ถุงมือยางธรรมชาติในสหรัฐฯ และยุโรปเกิด “อาการแพ้ถุงมือยางธรรมชาติรุนแรง” ซึ่งมี 3 อาการคือ 1.ระคายเคืองต่อผิวหนัง เกิดผื่น ผิวแห้งลอกเป็นขุย 2. เกิดเป็นขี้กลากภายใน 2 วัน และ 3. อาการคัน หอบหืด แสบจมูก ลมพิษใน 1 ชม. จึงเกิดการออกระเบียบและมาตรฐานสำหรับถุงมือยางธรรมชาติจากสหรัฐฯ และยุโรปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

สถานการณ์ตลาดถุงมือยางโลกขณะนี้เป็นแบบ “อุปสงค์ส่วนเกินหรือความต้องการเกิน (Excess Demand)” คือมีความต้องการถุงมือยางมากกว่ากำลังการผลิตซึ่งเกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมา ยืนยันได้จากตัวเลขปี 2564 ที่ความต้องการถุงมือยางโลก 4.4 แสนล้านชิ้น ผลผลิตโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านชิ้น โดยมาเลเซียผลิตเป็นสัดส่วน 50% ของการผลิตโลก ตามด้วยจีน 15% และไทย 13% ของผลผลิตโลก

 

นอกจากอานิสงส์จาก “โควิด” ที่ส่งให้ถุงมือยางพารามาเลเซียส่งออกได้เยอะแล้ว ยังมีปัจจัยที่ทำให้ถุงมือยางของมาเลเซียขึ้นสู่เบอร์หนึ่งของโลกอย่างรวดเร็วเพราะ 1.นโยบายต่อเนื่อง อุตสาหกรรมถุงมือยางเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมหลักของมาเลเซีย  (Malaysia’s 12 National Key Economic Areas : NKEAs) มาโดยตลอดไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศก็ตาม มีการบรรจุอุตสาหกรรมถุงมือยางอยู่ในกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมสุขภาพ (Healthcare)  ที่มีการตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

 

 โดยนโยบาย NKEAs เริ่มมาตั้งแต่ปี 2010 มีการตั้งเป้าหมายว่าถุงมือยางมาเลเซียต้องเป็น “65% ของส่วนแบ่งตลาดโลก” (ปัจจุบันยังอยู่ที่ 50%) อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าปี 2010 อุตสาหกรรมถุงมือยางก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน (ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางของมาเลเซียในขณะนั้นคือ โรงงานผลิตรองเท้า Bata ร่วมทุนกับริษัทสาธารณรัฐเซ็ก ปี 1937 ที่เมือง Klang

 

ต่อมาเป็นผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ได้แก่ ล้อยางรถมอเตอร์ไซด์ จักรยาน และสายพาน นโยบายมาเลเซียเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายใน Resource Based industry คืออุตสาหกรรมไม้ ยางพารา น้ำมันปาล์มอาหารและมิใช่อาหาร และโกโก้) โดยสถาบันวิจัยยางมาเลเซีย (RRIM ตั้งเมื่อปี 1925) คณะกรรมการวิจัยยางพารามาเลเซีย (Malaysian Rubber Research Development Board) และสถาบันวิจัยและมาตรฐานอุตสาหกรรมมาเลเซีย (Standards and Industrial Research Institute of Malaysia : SIRIM) และหน่วยงานพัฒนาอุตสาหกรรมมาเลเซีย (Malaysia Industrial Development Authority :MIDA)

 

 

อานิสงส์“โควิด” ดันถุงมือยางมาเลเซีย \"ครองโลก\"

 

2.สร้างมาตรฐาน มีมาตรฐานถุงมือยาง (Standard Malaysia Glove :SMG) แม้ว่าอุตสาหกรรมถุงมือยางมาลเซียมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังปี 1987 ก็ตาม แต่เนื่องมาจากเกิดการแพ้ถุงมือยางธรรมชาติ ในปี 1990 ของตลาดสหรัฐฯ  ทำให้มาเลเซียต้องทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในฟินแลนด์เพื่อหาคุณลักษณะของการแพ้โปรตีนยาง พัฒนาทดสอบวิธีวัดโปรตีนสกัด (Extractable Protein : EP) พัฒนาทดสอบ ปรับปรุงและเปบี่ยนแปลงเทคโนโลยี่ ร่วมกับไต้หวัน ร่วมมือกับ FDA และสถาบันทดสอบสหรัฐฯ (American Society for Testing and Materials : ASTM) ตั้งศูนย์ทดสอบภายใต้มาตรฐาน SMGs สร้างเครือข่ายส่งออกรัฐและเอกชน โดยสภาส่งเสริมส่งออกยางมาเลเซีย (Malaysian Rubber Export Promotion Council : MREPC)  

 

3.สิทธิประโยชน์และต้นทุนพลังงานถูก อุตสาหกรรมถุงมือยางเป็นกิจกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก MIDA ที่สามารถให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมภายใต้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการลงทุน (Promotion of Investments Act 1986) พระราชบัญญัติภาษีเงินได้( Income Tax Act 1967) พระราชบัญญัติศุลกากร (Customs Act 1967) พระราชบัญญัติภาษีการขาย (Sales Tax Act 1972) พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (Excise Act 1976) และพระราชบัญญัติเขตปลอดอากร (Free Zones Act 1990) และได้เปรียบต้นทุนการผลิตจากราคาน้ำมันที่มีราคาถูกกว่า

 

 

อานิสงส์“โควิด” ดันถุงมือยางมาเลเซีย \"ครองโลก\"

ที่มา : ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย 

 

4.เน้นวิจัย ปี 2019 งบวิจัยของมาเลเซีย (1.4% GDP) เป็นอันดับสองของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (1.9% GDP)  โดยเฉพาะบริษัทใหญ่อย่าง Top glove ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและมีนักวิจัย 1,000 คน ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ลงทุนการวิจัยมากเป็นอันดับสองของมาเลเซียโดยเน้นเรื่อง AI และการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 งบวิจัยปีละ 60 ล้านริงกิต (เกือบ 500 ล้านบาทต่อปี)  

 

5.กลุ่มคลัสเตอร์เข้มแข็ง อุตสาหกรรมถุงมือยางไปเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ซึ่งมาเลเซียที่ความเข้มแข็งมาก มีทั้งที่เป็นบริษัทของมาเลเซียและบริษัทสากลใหญ่เข้ามาตั้งผลิต 6.ศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค เพราะมีความพร้อมทั้งท่าเรือ การขนส่ง ภาษา ทักษแรงงาน ความเป็นสากล และนโยบายต่อเนื่อง

 

7.สมาคมถุงมือยางมาเลเซีย (Malaysian Rubber Glove Manufacturers' Association : MARGMA) ตั้งเมื่อ 1989 เป็นแกนหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางและได้รับการเชื่อถือในระดับสากล 8.ยางโปรตีนต่ำ  RRIM พัฒนาน้ำยางโปรตีนต่ำชื่อว่า Low Protein Latex : LOPROL) เพื่อนำไปผลิตถุงมือยางที่มีโปรตีนต่ำ และ 9. สี่เสือถุงมือยางโลกอยู่มาเลเซีย คือบริษัท TOP Glove, Hartalega, Kossan และ Supermax