นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2568 จำนวน 3,500 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนใช้เป็นเงินหมุนเวียน ช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุน สำหรับลงทุนและดำเนินงานแก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการอนุรักษ์พลังงานหรือการป้องกัน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เสนอร่างแนวทางหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2568 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินกองทุนตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535
รวมถึงการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะเพื่อมากำกับดูแล และหลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และคาดว่าจะเปิดให้ยื่นขอรับเงินสนนุนได้ช่วงกลางปี 2568
“วัตถุประสงค์ตามมาตรา 25 ระบุให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งค้าหากำไร สามารถขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อใช้เป็น ทุนหมุนเวียน และเป็นเงินช่วยเหลือ หรืออุดหนุน ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน
ซึ่งภายใต้กรอบการจัดสรรเงิน จะมีหลายรายการ โดยหนึ่งในรายการ คือ เงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุน จากการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร”
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ได้เห็นชอบกรอบการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2568 จำนวน 3,500 ล้านบาท ถือเป็นความหวังให้กับสำหรับพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง/ไม่มีไฟฟ้าใช้
ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับโอกาสจากการขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน เพื่อใช้เป็นเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Off Grid) ได้แก่ บ้านที่พักอาศัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงเรียนในสังกัดของรัฐบาล หรือ ระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อชุมชนพึ่งพาตนเอง (Mini/Micro Grid) (ทุกครัวเรือนใช้ระบบและแบตเตอรี่ร่วมกัน) ได้ หลังจากการจัดสรรเงินกองทุนฯได้หยุดชะงักมาร่วม 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา
“จากการสำรวจครัวเรือนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และเป็นชุมชนที่ขอรับการสนับสนุนและมีความพร้อมพบว่ามีประมาณ 10,000 ระบบ ซึ่งถ้าหากราคาติดตั้งระบบละ 60,000 บาท อาจต้องใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท”
นายฉัตรชัย คุณโลหิต ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อชุมชนพึ่งพาตนเอง (Off Grid) ระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อบ้านพักอาศัย (Solar Home) หมู่บ้านตะเพินคี่ ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการใช้ระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าระดับครัวเรือน หรือโซลาร์โฮม (Solar Home) และติดตั้งให้กับครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตย
โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 วงเงิน 2.8 ล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ผลิตไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนขนาด 500 วัตต์ จำนวน 58 ครัวเรือน พร้อมอุปกรณ์ ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการใช้พลังงานทดแทนทั้งหมู่บ้านเฉลี่ย 4.5 ตันเทียบเท่าตันนํ้ามันดิบต่อปี และยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้นํ้ามันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าด้วย
ทั้งนี้ จากการติดตั้งระบบ คิดเป็นระยะเวลาคืนทุนเพียง 5 ปี 5 เดือน ซึ่งหากต้องขยายสายส่งไฟฟ้าระยะทาง 13 กิโลเมตร จะมีค่าใช้จ่ายราว 6.5 ล้านบาท การติดตั้งระบบ Solar Home ดังกล่าวจึงมีความเหมาะสมที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากภาครัฐในส่วนนี้ได้อีก ทั้งยังไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ชายขอบจากการปักเสาตั้งสายอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง