ทิศทางการธุรกิจและการลงทุนของโลกยุคใหม่ให้ความสนใจกับการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม (Go Green) เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น และเสี่ยงเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ส่งผลให้ทุกประเทศรวมถึงไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ Go Green เป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน เพราะวิกฤต Climate Change ถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลก ทุกฝ่ายพยายามผลักดันการแก้ปัญหาผ่านแนวคิดต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs), การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) หรือการลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) รวมทั้งการออกกติกาการค้าระหว่างประเทศใหม่ ๆที่บังคับให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน หากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวทันอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้บริษัทชั้นนำต่าง ๆ ล้วนตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือบางส่วนได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม RE100 (กลุ่มพลังงานหมุนเวียน) ซึ่งมีเป้าหมายใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ในกิจการ หากประเทศไทยต้องการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ จำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนการ Go Green ที่ชัดเจนและจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนชั้นนำของภูมิภาค และทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับการยอมรับในระดับโลกด้วย
ปัจจุบัน บีโอไอได้กำหนดมาตรการส่งเสริมด้าน Green Investment เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำคัญได้แก่
1.การส่งเสริมการลงทุนกิจการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กิจการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลหรือเส้นใยรีไซเคิล กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะและพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานทางเลือกใหม่ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) พลังงานไฮโดรเจน กิจการบริการด้านจัดการพลังงาน (ESCO) กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากเศษวัสดุของเสียจากผลผลิตการเกษตร หรือขยะ (RDF) กิจการบำบัดหรือกำจัดของเสีย รวมถึงการส่งเสริมกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเภทต่าง ๆ เพื่อช่วยลดมลพิษในภาคการขนส่ง
2.การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับบางธุรกิจให้ใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การกำหนดให้ใช้เทคโนโลยีดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์คาร์บอน ในธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ปิโตรเคมี โรงแยกก๊าซธรรมชาติ การกำหนดให้ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติหรือสารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยในกิจการห้องเย็น และการกำหนดให้ Smart Environment เป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการส่งเสริมกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ
3.มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry โดยให้สิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้พลังงาน และลดมลพิษ เช่น การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งกากของเสีย นํ้าเสีย มลพิษในอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล เช่น GAP, FSC, PEFCs
“บีโอไอจะเดินหน้าสนับสนุน Green Investment และดำเนินมาตรการสนับสนุนเหล่านี้อย่างต่อเนื่องในปี 2568 โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นจุดแข็งใหม่ในการดึงดูดอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต และหากมีประเภทกิจการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ก็พร้อมจะเสนอบอร์ดบีโอไอพิจารณาเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมด้วย”
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อ Go Green มีสถิติที่เติบโตต่อเนื่อง โดยในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) ปัจจุบัน บีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจในกลุ่ม BCG มากกว่า 50 กิจการ ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจภาคการเกษตร อาหาร ไบโอเทคโนโลยีธุรกิจบริการที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงพลังงานสะอาดโดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565-ก.ย. 2567) มีการขอรับการส่งเสริมรวม 2,230 โครงการ เงินลงทุนรวม 470,000 ล้านบาท
ในจำนวนการขอรับการส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG ข้างต้น มีการขอรับส่งเสริมลงทุนพลังงานสะอาด ซึ่งบีโอไอได้เน้นส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือพลังงานจากขยะ โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565 - ก.ย. 2567) มีการขอรับการส่งเสริมรวม 1,252 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.8 แสนล้านบาทโดยเฉพาะปี 2567 (9 เดือน) มีการขอรับการส่งเสริมรวมเกือบ 350 โครงการ เงินลงทุนรวมกันมากกว่า 85,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 2565 ถึง 3.7 เท่า แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวและความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ขณะช่วงตั้งแต่ปี 2562 ถึงเดือนกันยายน 2567 มีอุตสาหกรรม BCG ขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 3,744 โครงการ เงินลงทุนรวม 725,000 ล้านบาท
นอกจากส่งเสริมการลงทุนใหม่แล้ว บีโอไอยังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในกลุ่ม BCG ไม่ว่าจะเป็นปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงาน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565-ก.ย. 2567) มีการขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการนี้รวม 911 โครงการ เงินลงทุนรวม 47,000 ล้านบาทและหากนับรวมตั้งแต่ปี 2562 –กันยายน 2567 มีโครงการได้รับส่งเสรริม 1,362 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,000 ล้านบาท
ส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อนำไปสู่การลดมลพิษทางอากาศ และสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ มุ่งให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ปัจจุบันบีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม EV รวมมูลค่าการลงทุนช่วง 3 ปีกว่า 82,000 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้าแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ขณะภาพรวมอุตสาหกรรม EV ช่วงปี 2562-กันยายน 2567 มีขอรับการส่งเสริม 111 โครงการ เงินลงทุนรวม 118,000 ล้านบาท
“ปี 2568 คาดยังคงมีการลงทุนด้าน Green Investment ทั้ง 4 กลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม BCG จากกระแสความยั่งยืนและนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นเมืองหลวง BCG ของภูมิภาค อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่บีโอไอจะดึงดูดการลงทุนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ (Battery Cell) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ EV การลงทุนผลิตและใช้พลังงานสะอาดที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนและเป็นไปตามกติกาการค้าระหว่างประเทศ”
เลขาธิการบีโอไอ ยังให้ความเห็นถึงทิศทาง/แนวโน้มการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อ Go Green ในประเทศไทย และในกลุ่มประเทศอาเซียนในยุคโดนัลด์ ทรัมป์(ทรัมป์ 2.0)ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ โดยทรัมป์ยังสนับสนุนให้สหรัฐผลิตพลังงานจากฟอสซิลเพิ่มว่า ถึงแม้ทรัมป์มีนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจาก Climate Change แต่เชื่อว่าการลงทุน Go Green ในประเทศไทย จะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ยังมีปัจจัยบวก จากความตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนของบรรดาบริษัทชั้นนำไม่ว่าจากประเทศใด รวมถึงผู้บริโภคในปัจจุบันให้การสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งตลาดสำคัญอื่น ๆ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ยังคงมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้กับคู่ค้าต่างๆ อยู่ เช่น มาตรการ CBAM เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีเป้าหมายมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยบีโอไอจะเดินหน้าส่งเสริมการลงทุน Go Green อย่างจริงจังต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง BCG ของภูมิภาค และเป็นหนึ่งในแหล่งรองรับการลงทุนที่ Green และ Clean ที่สุดในโลก ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนได้อีกมหาศาลจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน กล่าวว่า ในปี 2568 ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เช่น จากการสำรวจของ Deloitte Global (2023) พบว่าผู้บริโภค 60% คำนึงสินค้าที่รักษ์โลกและยอมจ่ายในราคาที่แพงขึ้น สอดคล้องกับ Nielson (2022) พบว่า 70% ของผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าเพื่อต้องการลดกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นในปี 2568 ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีก
ขณะเดียวกันนักลงทุนไทยและโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น เห็นได้จากการประเมินของ Charlie King บรรณาธิการวารสาร Sustainability Magazine and Energy Digital พบว่า บริษัททั่วโลกให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นจากปี 2020 มีสัดส่วน 68% แต่ปี 2024 เพิ่มขึ้นเป็น 81% และในปี 2025 ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก
ส่วนสถาบันการเงินทั้งไทยและโลกให้สิทธิดอกเบี้ยต่ำและอื่น ๆ เมื่อบริษัทได้คะแนน ESG สูง ซึ่งจะจูงใจให้บริษัทหันมาดำเนินธุรกิจแบบ ESG มากยิ่งขึ้น จากมีสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้จากในปี 2025 (2568) จะเป็นสุดท้ายที่บริษัททั่วโลกเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดยุโรป เพราะต้นปี 2026 ยุโรปจะเก็บภาษี EU CBAM เต็มรูปแบบ ฉะนั้นบริษัทจะเหลือเวลาอีก 1 ปีเท่านั้น ทำให้จะยิ่งเร่งปรับตัวมากขึ้นในปีนี้
“การลงทุนในพลังงานสะอาดจะมีมากขึ้น และจะมีการออก Green Bond เพื่อระดมทุนมากขึ้น จากนโยบายรัฐบาลทั่วโลกมีความชัดเจนในการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG)เพื่อลดโลกร้อน ซึ่งจะเหลือเวลาอีกเพียง 25 ปีที่ต้องลดและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ในปี 2050”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง