เทียบฟอร์มอาเซียนปี 68 จีดีพีไทยรั้งเบอร์ 9 สิงคโปร์-เวียดนามไปโลด

02 ม.ค. 2568 | 10:54 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2568 | 11:04 น.
3.4 k

ในปี 2025 หรือ พ.ศ. 2568 ไทยต้องวางตำแหน่งเศรษฐกิจและภาคการผลิตให้ดีว่าจะไปในทิศทางใด เพราะนอกจากเศรษฐกิจไทยต้องเจอกับ “ทรัมป์ 2.0” สินค้าและทุนจีนที่จะทะลักเข้าไทยมากขึ้น และสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังยืดเยื้อแล้ว

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2568 ไทยยังต้องเจอกับภาวการณ์แข่งขันจากประเทศอาเซียนด้วยกันเองไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศ การส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และศักยภาพของแรงงาน ที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียน ตามด้วย ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา บรูไน และลาว ตามลำดับ

โดยอัตราขยายตัวเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวมากกว่า 6% ต่อปี คือ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) แต่ในปี 2568 จะเหลือเวียดนามและกัมพูชาเพียงสองประเทศที่จะยังคงมีอัตราการขยายตัว 6%

สำหรับกัมพูชานั้น สาเหตุหลักมาจากการท่องเที่ยวที่พื้นตัว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งออกในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานที่ไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้การลงทุนของจีนในกัมพูชาฟื้นตัว ส่วนเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งต้นทุนการผลิตที่ตํ่า แรงงานมีมากและมีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น การเมืองนิ่ง นโยบายเศรษฐกิจชัดเจนตามเป้าหมาย

ส่วนกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัว 4-5% คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนสิงคโปร์มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 3% และไทยขยายตัวตํ่ากว่า 2%

ในปี 2568 คาดว่าไทยจะยังคงมีอัตราการขยายตัวของ GDP ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียนเหมือนเดิม โดยจะเป็นอันดับที่ 9 ของอาเซียน ตามด้วยเมียนมา

เทียบฟอร์มอาเซียนปี 68 จีดีพีไทยรั้งเบอร์ 9 สิงคโปร์-เวียดนามไปโลด

สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI ในปี 2568 สิงคโปร์ยังเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ของนักลงทุนต่างชาติ โดยที่ยังลงทุนต่อเนื่องคือ Agritech หรือการทำเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหารด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ภายใต้นโยบาย “30+30” คือผลิตอาหารให้ได้ 30% ในปี 2030 นอกจากนี้ยังลงทุน “Medtech” หรือศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ทันสมัย และพลังงานสะอาด

ด้านอินโดนีเซีย ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ครบวงจร ทั้งแบตเตอรี่ สถานีชาร์จ การผลิตชิ้นส่วน และเศรษฐกิจดิจิทัลใช้ AI และ E-commerce ส่วนเวียดนามจะลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูป และพลังงานสะอาด ขณะที่มาเลเซียลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด เซมิคอนดักเคอร์ และรถ EV ส่วนไทยลงทุนรถ EV เศรษฐกิจดิจิทัล อาหารแห่งอนาคต เซมิคอนดักเตอร์

“การส่งออก” มูลค่าการส่งออกไทยยังอยู่อันดับ 5 ของอาเซียน หากเทียบกับเวียดนามในทุกหมวดอุตสาหกรรม เวียดนามส่งออกมากกว่าประเทศไทยทุกหมวด โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 88% ของการส่งออกรวม ขณะไทยคิดเป็น 80% ของการส่งออกรวม การส่งออกของเวียดนามถูกขับเคลื่อนด้วย FDI สัดส่วน 80% ส่วนไทยสัดส่วน 60% ที่เหลือเป็นการลงทุนจากนักลงทุนภายในประเทศ ซึ่งปี 2568 การส่งออกของไทยคงยังอยู่อันดับที่ 5 ของอาเซียนต่อไป

“การท่องเที่ยว” เป็นอุตสาหกรรมเดียวที่ทำเงินให้ประเทศไทยมากที่สุดในอาเซียน ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาสูงกว่าทุกประเทศ ตามด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เมื่อเทียบปัจจัยเศรษฐกิจหลักข้างต้นแล้ว พอจะสรุปหรือเทียบฟอร์มเศรษฐกิจไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียนในปี 2568 ได้ดังนี้ 1.อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยตํ่ากว่าประเทศอาเซียน 2.อุตสาหกรรมที่ไทยผลักดัน “ซํ้าซ้อนกัน” กับหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งขึ้นกับเสน่ห์ของเศรษฐกิจไทยจะมีแค่ไหนที่จะสามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

3.ศักยภาพของแรงงานไทย ถูกไล่หลังจากเพื่อนบ้านหลายประเทศที่มีศักยภาพแซงหน้าไทยไปแล้ว ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการดึง FDI เข้าประเทศ 4.ไทยเก่งเรื่องท่องเที่ยว ดังนั้นต้องทำหลายเรื่องไปพร้อมๆ กันคือ ทำท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พลังงานที่ใช้เป็นพลังงานสะอาด ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก และสามารถเชื่อมโยงกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัยได้ และ 5. FDI และการส่งออกในปี 2568 ไทยยังเป็นรองหลายประเทศในอาเซียน

 “ถ้าถามว่าประเทศใดในอาเซียนที่จะไปโลดในปี 2568 มองว่าน่าจะมี 2 ประเทศคือ สิงคโปร์ และเวียดนาม”