ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. เน้นยํ้าเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างสมดุล มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2593 สอดรับกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจพลังงานโลก ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่
Climate Resilience Business ปรับ Portfolio ธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน
Carbon-Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน และ Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้โอกาสในการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ระบุไว้
ปัจจุบันปตท.อยู่ระหว่างเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ดำเนินการโดย PTTEP ใน 2 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ และโครงการลังละบาห์ โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ นับเป็นการดำเนินการแห่งแรกของประเทศไทย คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
รวมถึง เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่มปตท. ในพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเลภาคตะวันออก ปริมาณดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6 ล้านตันต่อปี โดยมีแผนเริ่มดำเนินการโครงการได้ภายในปี 2573 และยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสม 5% ในท่อส่งก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในปี 2573 ตามร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต
อีกทั้ง เพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยกำหนดแผนปลูกป่าบกและป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 และบำรุงรักษาป่า 1 ล้านไร่ จากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ขณะที่ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ได้ขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการของเสีย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนการบูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ในการร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.คงกระพัน กล่าวอีกว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ยังได้ร่วมช่วยเหลือและดูแลสังคม เร่งบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์วิกฤต โดยได้ส่งมอบความช่วยเหลือแก่พี่น้องผู้ประสบเหตุอุทกภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม ประกอบด้วย ถุงยังชีพ 25,170 ถุงนํ้าดื่ม 81,740 ขวด ยารักษาโรค ผ้าห่ม เรือพาย และก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร รวมมูลค่ากว่า 15.73 ล้านบาท
อีกทั้งได้ส่งทีมปฏิบัติการ PTT Group SEALs ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง พร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการมอบถุงยังชีพ อพยพประชาชน และนํ้ามันเชื้อเพลิงในการฟื้นฟูพื้นที่และบ้านเรือนในจังหวัดสุโขทัย เชียงราย และเชียงใหม่อีกด้วย
ขณะที่ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยหลังจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในเดือนมีนาคม 2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มี Market GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกนํ้ามันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลังจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี
ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% โดยเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง