environment

เสนอใช้ HIA แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

    ผู้เชี่ยวชาญ เสนอใช้การประเมินผลกระทบ HIA เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควัน มุ่งลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมเร่งผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อสร้างกลไกการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 "เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA" เพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ตลอดจนประเด็นปัญหาสุขภาพสำคัญของพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ดร.สุวจี กู๊ด ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านการสร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เมืองสุขภาพดีตามนโยบายขององค์การอนามัยโลก" ตอนหนึ่งระบุว่า

เมืองสุขภาวะเป็นกรอบแนวคิดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งหมายถึงเมืองที่คำนึงถึงสุขภาวะของประชาชน สังคม ความเป็นธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหัวใจของนโยบายท้องถิ่น

รวมไปถึงยุทธศาสตร์และโครงการต่าง ๆ ที่มีหลักแนวคิดเคารพสิทธิทางสุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งในเวลานี้ ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาค ที่มีการทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ HIA ครอบคลุมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

ดร.สุวจี กล่าวว่า นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่ WHO ให้ความสำคัญมาก และได้เน้นย้ำเรื่องนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 2015 โดยนำเสนอวิธีการทำงานในระดับท้องถิ่น ให้มีการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยเน้นย้ำการมองประเด็นทางสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม

เมืองสุขภาวะจึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาว่า เมืองควรจะมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงสภาพให้เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน ผ่านความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาคประชาชน บนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์ปัญหาด้วยข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และ อดีต สว. ในฐานะคณะทำงานพิจารณาศึกษา ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "มลพิษกับ พ.ร.บ.อากาศสะอาดกับการมีส่วนร่วมของสังคมไทย" เกี่ยวกับความคืบหน้าของการเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับว่า

ได้มีการเสนอเข้าไปยังสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แล้วตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดย พ.ร.บ.อากาศสะอาด อาจเทียบเคียงเป็นกระบวนการ HIA ได้รูปแบบหนึ่งแต่อยู่ในระดับเบื้องต้นเพราะในกระบวนการยังเต็มไปด้วยระบบระเบียบราชการอยู่แต่ขณะเดียวกันก็มีการใส่เครื่องมืออื่น ๆ เช่น เครื่องมือทางการปฏิบัติ เครื่องมือในการประเมิน เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน มาใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจอากาศสะอาดด้วย 

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และ อดีต สว.

หัวใจหลักของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด คือ กลไกการแก้ปัญหาเพื่อ ‘ดับไฟในใจผู้จุด’ ด้วยการการสร้างแรงจูงใจไม่ให้จุดไฟ โดยอาจใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์สร้างแรงจูงใจว่า บุคคลใดไม่จุดไฟจะได้ผลตอบแทนอะไร รวมไปถึงการบริหารจัดการในพื้นที่ที่มีอำนาจทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อไม่ให้เกิดพื้นที่เกรงใจในการปฏิบัติ

ตลอดจนการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ต่างฝ่ายต่างต้องการลดต้นทุนในการผลิตของตนเองด้วยการเผาแทนวิธีการอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่างานศึกษาที่ใช้ฐานวิทยาศาสตร์เป็นที่ตั้ง และใช้ HIA เป็นเครื่องมือประเมิน จะช่วยให้เรามีทางออกและมีความหวังเกี่ยวกับเรื่องอากาศสะอาดในประเทศไทย

ขณะที่เวทีเสวนาซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ "การแก้ไขปัญหาหมอกควัน ทางออกอยู่ที่ไหน" โดย นางสาวลักขณา ไชยคำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านปางยาง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หมู่บ้านปางยางมีลักษณะพื้นที่เป็นหุบเขาล้อมรอบจึงได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันทุกครั้งในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. จนทำให้มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดการเสียชีวิตในทุกปี

จึงอยากขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกในการช่วยสนับสนุนเครื่องกรองอากาศ รวมถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพของชาวบ้าน เพราะส่วนใหญ่มักพบต่อเมื่ออาการหนักแล้วและเสียชีวิตในเวลาไม่นาน

ด้านนายสุภพ กันธิมา ปลัดเทศบาลตำบลแม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ ต.แม่นะ มีประชากรเกือบ 1 หมื่นคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าในทุกปี การเผาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพื้นที่ภายนอก ทางตำบลก็ใช้วิธีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนช่วยดูดซับ บรรเทาความรุนแรงของปัญหาลง

ขณะเดียวกันก็มีการเฝ้าระวังประชาชน จัดทำห้องปลอดฝุ่น แจกหน้ากากอนามัย ด้านสุขภาพก็มีพันธมิตรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หน่วยงานด้านสุขภาพต่าง ๆ มา บูรณาการดำเนินงานใช้งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้ามาช่วยสนับสนุน 

เสนอใช้ HIA แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.สมพร จันทระ ปธ.คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มช. มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนผ่านการพัฒนานวัตกรรม เช่น Low Cost Censor อุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นอย่างง่าย ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและเฝ้าระวังสถานการณ์ได้ละเอียดขึ้น หรือเครื่องฟอกอากาศอย่างง่ายที่ใช้กล่องลังกระดาษ

ทั้งยังได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน FireD เพื่อเป็นทางออกของการบริหารจัดการเชื้อเพลิง จัดระเบียบการขออนุญาตจุดไฟเผา แทนการดำเนินมาตรการแบบเดิมที่ห้ามเผาโดยเด็ดขาด ซึ่งอาจไม่ประสบผลสำเร็จและยังพบการละเมิดอยู่ แต่การจัดระเบียบการเผาอย่างถูกต้องจะช่วยให้สามารถควบคุมได้ดีขึ้น โดยใช้เกณฑ์จากการพยากรณ์สภาพอากาศ อนุญาตในช่วงที่อากาศระบายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อน คือ เมื่อกระจายอำนาจการอนุญาตเผาลงไปในมือท้องถิ่นแล้ว ก็จะต้องเพิ่มทักษะของเจ้าหน้าที่ให้มีองค์ความรู้เพียงพอต่อการพิจารณาไม่ให้กระทบกับคนในพื้นที่ด้วย

น.ส.นัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย สธ. กล่าวว่า สธ.ได้ดำเนินงานเพื่อลดปัญหาฝุ่นควันทั้ง 3 ระยะ ตั้งแต่ต้นทางมีความพยายามร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อหาแนวทางลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Healthy Cities)

เสนอใช้ HIA แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

ส่วนกลางทาง จะดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง สื่อสารแจ้งเตือน สร้างความรอบรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง (Health Literacy) และปลายทาง เมื่อมาถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็จะจัดบริการด้านสาธารณสุข รักษาฟื้นฟู ดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยงต่อไป (Health Care)

น.ส.นัยนา กล่าวว่า อยากเรียกร้อง คือ การนำดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ (AQHI) มาใช้ในการแจ้งเตือนป้องกันสุขภาพประชาชนซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาตรฐานที่เหมาะสมกับบริบทของไทย จากนั้นจะนำไปทดลองใช้เพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับ ก่อนที่จะสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือและระบบรายงานที่นำมาใช้ในการปกป้องสุขภาพประชาชนได้ต่อไป

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เลขานุการคณะทำงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นขบวนการภาคประชาสังคมที่รวมตัวกัน ร่วมกันออกแบบแนวทาง แก้ไข เผชิญหน้า ประเมินผล และสรุปบทเรียนไปด้วยกัน ซึ่งก็มีความสำเร็จที่ทำให้จุดความร้อนในช่วงหลังลดลง โดยทุกวันนี้ก็ไม่มีใครบอกว่า จะเลิกการเผาให้เหลือศูนย์เพราะเราเข้าใจดีถึงความจำเป็นของการใช้ไฟในวิถีชีวิตของการอยู่กับเกษตร การอยู่กับป่า ส่วนที่ไม่จำเป็นก็ต้องช่วยกันลดให้ได้มากที่สุด

ส่วนอื่นที่ยังต้องการร่วมกันทำให้เกิดขึ้น คือการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน การเพิ่มศักยภาพทั้งทักษะและเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ดูแลป่า รวมถึงการทำให้ประชาชนเข้าถึงการคัดกรองสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของมะเร็งปอด ที่หากพบเร็วก็มีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า