climatecenter

ปาฏิหาริย์แห่งหาดใหญ่ โครงการพระราชดำริป้องกันเมืองจากน้ำท่วม

    เรื่องราวที่น่าทึ่งของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ที่ช่วยให้เมืองหาดใหญ่รอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งใหญ่

ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงได้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำพัดปกคลุมบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศมาเลเซียที่กำลังเคลื่อนผ่านลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง เมื่อวันที่ 26-28 พฤศจิกายน2567 ที่ผ่านมา  

ปาฏิหาริย์แห่งหาดใหญ่ โครงการพระราชดำริป้องกันเมืองจากน้ำท่วม

ส่งผลทำให้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากและตกสะสม จนทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 37 ปี อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่คิดเป็นมูลค่ามหาศาล
 

ขณะนั้นเกือบแทบทุกพื้นที่ในภาคใต้ตอนล่างได้รับผลกระทบ แต่พื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กลับไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมเลย แม้จะมีปริมาณฝนตกสะสมถึง 475 มิลลิเมตร(มม.) และมีปริมาณน้ำท่าไหลผ่านถึง 1,421.78 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาทีก็ตาม

ปาฏิหาริย์แห่งหาดใหญ่ โครงการพระราชดำริป้องกันเมืองจากน้ำท่วม

ทำไมน้ำถึงไม่ท่วมชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่?

นายสิทธิพร เพชรศรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสงขลา  กรมชลประทาน  ตอบอย่างมั่นใจว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร  ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนิน  โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงทำให้ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่รอดพ้นจากมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้

ย้อนอดีตไปเมื่อวันที่  24 ธันวาคม 2531พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสกับ นายจริย์ ตุลยานนท์ อธิบดีกรมชลประทานในสมัยนั้นและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องความตอนหนึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ว่า 

“...การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยด้วยวิธีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คลองอู่ตะเภาหรือตามลำน้ำสาขาเพื่อสกัดกั้นน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลมายังเมืองหาดใหญ่นั้นคงไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้เลย การแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่ การขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาหรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมา ท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว...” 

ในปี พ.ศ.2532 กรมชลประทาน  ได้ขุดลอกคลองธรรมชาติเพื่อเร่งการระบายน้ำจำนวน 4 สาย รวมความยาว 46.9 กิโลเมตร  ประกอบด้วย สายที่ 1 คลองอู่ตะเภา สามารถระบายน้ำได้ 230 ลบ.ม.ต่อวินาที สายที่ 2 คลองอู่ตะเภาแยก 1 สามารถระบายน้ำได้ 15 ลบ.ม.ต่อวินาที สายที่ 3 คลองอู่ตะเภาแยก 2 สามารถระบายน้ำได้ 35 ลบ.ม.ต่อวินาที  และสายที่ 4 คลองท่าช้าง-บางกล่ำ สามารถระบายน้ำได้ 135 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งหมดสามารถระบายน้ำได้รวม 415 ลบ.ม.ต่อวินาที  

ปาฏิหาริย์แห่งหาดใหญ่ โครงการพระราชดำริป้องกันเมืองจากน้ำท่วม

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการขุดลอกคลองธรรมชาติเพื่อเร่งระบายน้ำแล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำที่ระบายได้ยังไม่เพียงพอ  ในปี พ.ศ.2543 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีฝนตกหนักระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน  โดยปริมาณฝนสะสมถึง 597.50 มม.  มีปริมาณน้ำท่า 970.85 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้เกิดอุทกภัยบริเวณเทศบาลนครหาดใหญ่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 14,000 ล้านบาท

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร  ได้มีพระราชดำรัสอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543  สรุปความว่า 

“...เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2543 มีน้ำท่วมภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ มีความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งถ้าได้ทำตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2531 ที่ลงทุนนั้น จะได้รับคืนมาหลายเท่าตัว...” 

ต่อมาคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม  2543 ได้มีมติอนุมัติให้ กรมชลประทานดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ฯ ในระยะแรก โดยได้ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำเพิ่มเติม จำนวน 7 สาย ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ.2544-2550 ประกอบด้วย 

1.คลองระบายน้ำสายที่ 1 (ร.1)สามารถระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม.ต่อวินาที

2.คลองระบายน้ำสายที่ 2 (ร.3) สามารถระบายน้ำได้ 195 ลบ.ม.ต่อวินาที

3.คลองระบายน้ำสายที่ 3 (ร.4) สามารถระบายน้ำได้ 55 ลบ.ม.ต่อวินาที

4. คลองระบายน้ำสายที่ 4 (ร.5) สามารถระบายน้ำได้ 35 ลบ.ม.ต่อวินาที

5.คลองระบายน้ำสายที่ 5 (ร.6) สามารถระบายน้ำได้ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที

6.คลองระบายน้ำสายที่ 6 (1ซ.-ร.1)สามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที

และ7. คลองระบายน้ำสายที่ 7 (1ข-1ซ.-ร.1) สามารถระบายน้ำได้ 40 ลบ.ม.ต่อวินาที  รวมทั้งหมดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเป็น 1,075 ลบ.ม.ต่อวินาที 

ปาฏิหาริย์แห่งหาดใหญ่ โครงการพระราชดำริป้องกันเมืองจากน้ำท่วม

อย่างไรก็ตามแม้ศักยภาพการระบายน้ำของเมืองหาดใหญ่จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณน้ำท่าที่ไหลผ่าน  ในปี2553  เกิดฝนตกหนักติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน มีปริมาณฝนสะสม 483.30 มม. มีปริมาณน้ำท่า 1,623.50 ลบ.ม.ต่อวินาที เกินศักยภาพของคลองระบายน้ำที่มีอยู่เดิมคือ 1,075 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำไหลล้นจากคลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำ ร.1 เข้าท่วมพื้นที่ของเขตเทศบาลนครหาดใหญ่และบริเวณใกล้เคียง สร้างความเสียหายประมาณ 10,490 ล้านบาท

เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2553 กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2)  ประกอบด้วยงานสำคัญๆ4 งานหลักคือ 

1.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 ความยาว 21.34 กม. พร้อมอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะเป็นคลองสายหลักในการระบายมวลน้ำส่วนเกินช่วงฤดูฝนจากคลองอู่ตะเภาออกสู่ทะเล  เมื่อรวมกับอัตราการระบายน้ำของคลองอู่ตะเภาที่ระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม.ต่อวินาทีแล้ว ทำให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุดรวม 1,665 ลบ.ม.ต่อวินาที  

2.ก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน 2  บริเวณปากคลองระบายน้ำ ร.1 สำหรับใช้เปิดรับน้ำเข้าคลอง ร.1    

3.ก่อสร้างประตูระบายน้ำบางหยี 2  บริเวณปลายคลองผันน้ำ เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำดิบรองรับความต้องการใช้น้ำด้านต่าง ๆ ของเมืองหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียงที่กำลังขยายตัว  ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเพาะปลูก การอุปโภค และการท่องเที่ยวเป็นการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี    

และ 4.ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบางหยี   บริเวณปลายคลองระบายน้ำ  ในอัตราการสูบน้ำ 90 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อช่วยพร่องน้ำ ระบายน้ำ กรณีน้ำทะเลหนุน   กรมชลประทานได้ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ.2558-2565

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานชื่อคลองระบายน้ำสายที่ 1 (ร.1) ว่า “คลองภูมินาถดำริ” มีความหมายคือ คลองระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริขุดขึ้น
 “ภายหลังจากที่โครงการโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่แล้วเสร็จสมบูรณ์

นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแล้ว   ในฤดูแล้งคลองระบายน้ำ ร.1ยังใช้เป็นแหล่งน้ำดิบให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาหาดใหญ่ และสาขาสงขลาประมาณ 140,000 ลบ.ม.ต่อวัน ใช้เพื่อรักษาระบบนิเวศในคลองอู่ตะเภาประมาณ 432,000 ลบ.ม.ต่อวัน  รวมทั้งยังใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งหน้าได้อีกประมาณ 5 ล้านลบ.ม. อีกด้วย” ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสงขลา

อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ จะอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนของภาคใต้ แต่หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตก  กรมชล ประทานยังคงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง     ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชุมชนริมคลองธรรมชาติ   อ.หาดใหญ่   พื้นที่ อ.จะนะ พื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลนครหาดใหญ่  โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 27 จุด รวม 31 เครื่อง และได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ติดทะเลอ่าวไทย ได้แก่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร 23 จุด รวม 24 เครื่อง  ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 10 จุด รวม 32 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำจุดปฏิบัติการ หากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันก็จะเร่งระบายน้ำท่วมขังออกให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน   โครงการชลประทานสงขลายังได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยการดำเนินการขุดลอก คูคลอง กำจัดวัชพืช ตรวจสอบความพร้อมการใช้งานของอาคารชลประทาน และได้จัดตั้งศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำโครงการชลประทานสงขลา เพื่อให้ภารกิจระบายน้ำเป็นไปได้ด้วยดี

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำรัสให้ กรมชลประทานดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ   หาดใหญ่จึงพ้นภัยน้ำท่วมมาถึงทุกวันนี้