กฎหมายดังกล่าว เช่น the Providing Reliable, Objective, Verifiable Emissions Intensity and Transparency Act (PROVE IT Act, 2023) the Energy Innovation and Carbon Dividend Act (2023) The Foreign Pollution Fee Act (2023) เป็นต้น
แต่สำหรับพระราชบัญญัติการแข่งขันที่สะอาด (US Clean Competition Act : CCA) ริเริ่มเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 โดยกลุ่ม Citizen Climate Lobby (CCL) ของสหรัฐฯ (ตั้งเมื่อ 2007 มีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนการเก็บภาษีคาร์บอน) ได้ขอให้สมาชิกสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกันพิจารณากำหนดราคาคาร์บอนที่เกิดจากสินค้านำเข้ามาในสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 สภาคองเกรสได้ผ่าน CCA โดยวุฒิสมาชิกเชลดอน ไวท์เฮาส์ (Sheldon Whitehouse) ที่เป็นผู้นำเสนอกฎหมาย CCA เพื่อภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (Cross Border Adjustment Mechanism) สินค้านำเข้า และสร้างแรงจูงใจให้บริษัทในสหรัฐฯ ลดคาร์บอนฯ โดยยึดเกณฑ์ความเข้มข้นคาร์บอน (Carbon Intensity) จากการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตในรอบ 1 ปี (ไม่เหมือนกับ CBAM ของยุโรป ที่ยึดปริมาณการปล่อย CO2 ของอุตสากรรม)
กฏหมาย CCA มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จากภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และสินค้านำเข้าและให้บริษัทและโรงงานในสหรัฐฯ พัฒนานวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะยาว
CCA ทำ 2 เรื่องคือ “เก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (US Cross Border Adjustment Mechanism : US CBAM)” ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้า โดยคำนวณจากความเข้มข้นคาร์บอนจากการใช้ไฟฟ้า มีสูตรในการเก็บ US CBAM = (carbon intensity of product - carbon intensity benchmark) x (weight of goods) x (carbon price)
ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังไม่มีตัวเลขค่ากำหนด (Benchmark) ว่าเท่าไร แต่โดยทั่วไปจะใช้ตามข้อมูลที่อุตสาหกรรมในแต่ละภาคส่งให้ และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละภาคการผลิต สำหรับราคาคาร์บอนในปีแรก (2026) กำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Price) ไว้ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน ปีต่อมาราคาคาร์บอนเป็นตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายปี บวกด้วย 5% และ “ทำจัดรายการการปล่อยคาร์บอน”ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมภายในประเทศและสินค้านำเข้า
การรายงานนี้เป็นไปตาม Scope 1 (ทางตรง) และ Scope 2 (ทางอ้อม) ในรายงานประกอบด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในสถานที่แต่ละแห่งในปีที่ผ่านมาและแหล่งที่มาของการใช้ไฟฟ้าว่า ไฟฟ้านี้จ่ายผ่านโครงข่ายไฟฟ้าหรือแหล่งผลิตเฉพาะ
CCA ครอบคลุมอุตสาหกรรม 12 ประเภทคือ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่น ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิปิก ซีเมนต์ เหล็ก อลูมิเนียม แก้ว กระดาษ และเอทานอล CCA เริ่มบังคับใช้สำหรับสินค้านำเข้าวันที่ 30 มิถุนายน 2569 ส่วนสินค้าในประเทศบังคับใช้ปี 2567 ในปี 2569 จะเป็นปีสำคัญของอุตสาหกรรมไทยที่ต้องเสียภาษีคาร์บอนในการส่งสินค้าเป้าหมายไปยุโรปและสหรัฐฯ
สิ่งที่ประเทศไทยต้องรีบดำเนินการคือ 1.รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนทุกรูปแบบและจริงจังในอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม CBAM ทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ในการใช้พลังงานทางเลือก 2.รัฐบาลไทยต้องตั้งกองทุนลดคาร์บอน (Carbon Reduction Fund) เพื่ออุดหนุนให้กับอุตสาหกรรม ในการปรับตัว3.สถาบันการเงินทั้งของรัฐฯ และเอกชนต้องมี “ดอกเบี้ยคาร์บอน (Carbon Interest Rate)” ที่ตํ่ากว่าดอกเบี้ยกู้ยืมปกติ 50% เพื่อการปรับตัวในการลดคาร์บอน
4.รัฐบาลต้องสร้างตลาดคาร์บอนในประเทศแบบบังคับเหมือนกับยุโรป (ETS) เพื่อให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในราคาที่เกิดจาก Demand และ Supply ภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้ราคาซื้อขายคาร์บอนสูงกว่าในปัจจุบัน และ 5.รัฐบาลต้องจัดเก็บภาษีคาร์บอนภาคการผลิต โดยมีกรอบระยะเวลาเพื่อให้ภาคการผลิตเริ่มปรับตัว เพื่อบังคับให้ภาคการผลิตไทยต้องปรับตัวอย่างจริงจังและเร่งด่วน
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,039 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง