ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ดำเนินธุรกิจธนาคารเพื่อความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2561 ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ภายใต้เกราะของดัชนีชี้วัดการเงินที่ยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนพอร์ตสินเชื่อสีเขียวให้เติบโตเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจและกลุ่มลูกค้าบุคคล เห็นได้จาก3 ปีย้อนหลังทีทีบีได้สนับสนุนสินเชื่อสำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไปแล้ว 40,000 ล้านบาทและภายในสิ้นปี 2573 ตั้งเป้าอีก 60,000ล้านบาท
นายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ ประธานกลุ่มกลยุทธ์องค์กรและดิจิทัล ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยังมีความไม่แน่นอน และประชาชนชะลอการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ในครึ่งแรกของปี 2567 ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อสีเขียวในครึ่งแรกของปีนี้หดตัว 43% ซึ่งต้องรอไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่ากำลังซื้อจะกลับมาหรือไม่ โดยครึ่งปียอดอนุมัติสินเชื่อ EV อยู่ที่ 4,960 ล้านบาท แต่อยู่ระหว่างพิจารณาอีกประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท
ขณะที่สินเชื่อคอร์เปอร์เรท/ธุรกิจ ปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไว้รวม 20,000 ล้านบาท (เป็นสินเชื่อธุรกิจ 8,000 ล้านบาท และสินเชื่อรายย่อยซึ่งเป็น EV12,000ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.2% จากปีก่อนอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนสำหรับลูกค้าธุรกิจตั้งเป้าเพิ่มเป็น 60,000ล้านบาทภายในสิ้นปี 2573
นอกจากนี้ ในส่วนของตราสารหนี้ ตราสารทุน และกองทุนรวมตราสารทุนสีเขียวภายใต้การบริหารของกองทุน ESG (AUM) ณ เดือนมิถุนายน 2567 หดตัว 30% มีมูลค่า 4,303 ล้านบาท เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 6,274 ล้านบาท สำหรับการเบิกใช้วงเงินครึ่งแรกของปีนี้ พบว่า ลูกค้าธุรกิจ เบิกใช้วงเงินแล้วคิดเป็น 50% ของวงเงินที่อนุมัติ ส่วนลูกค้าบุคคลคืบหน้าเบิกใช้วงเงินคิดเป็น 27% ของสินเชื่อรถยนต์ EV ที่อนุมัติ 3,987 ล้านบาท หรือกว่า 4,100 คัน
“ด้วยภาพรวมของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนและประชาชนชะลอการซื้อรถ EV ด้วยปัจจัยต่างๆทำให้สินเชื่อสีเขียวหย่อนเป้าบ้าง โดยปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 4,960 ล้านบาทในครึ่งปีที่ผ่านมา เทียบกับ 8,710 ล้านบาทของช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คาดว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ธนาคารไม่มีแผนจะออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green bond หรือ Blue bond) ปัจจุบันสัดส่วนมูลค่าพอร์ตนิติบุคคลกับบุคคล(สินเชื่อรถEV)คิดเป็น 35 : 65 ซึ่งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กับ SMEs เป็นเบอร์หนึ่ง คิดเป็น 99 ต่อ 1”
อย่างไรก็ตาม นโยบายธนาคารสีเขียวของทีทีบีนั้น มีความมุ่งมั่นเดินตามกรอบ B+ESG มาอย่างต่อเนื่องผสานธุรกิจและความยั่งยืนเป็นเนื้อเดียวกันสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเพื่อก้าวสู่การเป็น “ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Banking) ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 ทีทีบีกำหนดตัวชีวัดด้านการเงินที่ยั่งยืนให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการดำเนินการด้านความยั่งยืนของธนาคาร คิดเป็น 10% ของตัวชี้วัดขององค์กร พร้อมแผนในการกำหนด
เป้าหมายที่ท้าทาย เพื่อขับเคลื่อนพอร์ตสีเขียวให้เติบโตขึ้นทุกปี ครอบคลุมทั้งลูกค้าธุรกิจและบุคคลโดยสนับสนุนเป้าหมายสิ่งแวดล้อม 7 ด้านทุกกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับกระบวนการ
นายนริศกล่าวเพิ่มเติมว่า ทีทีบีให้ความสำคัญ บน Framework ของธนาคาร B+ESG ซึ่งเรื่องความยั่งยืน ไม่ได้เป็นเรื่องคิดทีหลัง อยากให้เข้าไปอยู่ในโฟลว์ของการทำงาน การคิดโมเดลธุรกิจของธนาคารจริงๆ จึงใช้ B เป็นจุดเริ่มต้น คือก่อนที่ทางธนาคารจะสามารถไปสร้างความน่าเชื่อถือ ต้องมั่นใจก่อนว่า ตัวเรามีธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งธุรกิจที่ดำเนินงานอยู่บนความยั่งยืน เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางด้วยความมั่นใจว่าเรา Operate ในสิ่งที่โดนใจลูกค้า รวมถึงดิจิทัลเทคโนโลยีด้วย
ส่วนเรื่องของ ESG โดยเรื่อง Green ทีทีบีได้ประกาศเรื่องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) /ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรม(Carbon Footprint) ในระดับหนึ่งแล้ว โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขตที่1 และ 2) ลง 15% ภายในปี พ.ศ. 2569 จากปีฐานในปี พ.ศ. 2562 และมีเป้าหมายในการลดรายปีที่ 10% จากปีฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ การลดก๊าซเรือนกระจกธุรกิจรายใหญ่นั้นตระหนักและปรับตัวได้ดีอยู่แล้ว แต่ธุรกิจขนาดกลางหรือSMEอาจจะต้องเตรียมปรับตัว ทั้งโปรดักต์ต่างๆ ขณะเดียวกันพยายามโปรโมท จัดอบรม พร้อมแทรกเรื่องความรู้ต่างๆ เช่น ทางเลือกในการลด Carbon Footprint ขององค์กร/บริษัทในรูปแบบต่าง ๆ และนำไปสู่การหาพันธมิตรเพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับตัวได้เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ในอนาคตไม่ว่ายุโรปหรือในประเทศไทยที่อาจจะมีทั้ง Thailand Taxonomy และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ปัจจุบันทีทีบีมีโปรโมชั่นโปรดักต์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน สำหรับธุรกิจขนาดกลาง / SMEปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดมลพิษทางอากาศ การลดปริมาณนํ้าเสียคิดดอกเบี้ยพิเศษ 2.99%-4.99% ไม่จำกัดวงเงิน สินเชื่อเงินกู้ระยะยาวเพื่อติดตั้งและบำรุงรักษาโซลาร์รูฟท็อป รวมถึงสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งแบบเช่าซื้อและเช่ารถยนต์แบบลีสซิ่ง ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจทั้งขนาดกลางและรายย่อยเดินหน้าสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 4,033 วันที่ 6 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง