sustainability

อัปเดตกติกาลดโลกร้อน "อียู-สหรัฐ" ถึงไหน ผวา“ทรัมป์”คัมแบ็ก โลกเดือดปุด

    อัปเดตมาตรการลดโลกร้อน อียู-สหรัฐ สร้างกฎกติกาค้าโลกใหม่ ถึงไหน? ขณะโลกแข่ง Go Green จากแรงกดดันผู้บริโภค-นักลงทุน นักวิชาการชี้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หาก “แฮร์ริส” ชนะ ดันโลกลุยลดโลร้อนต่อ หาก “ทรัมป์”มา ส่งสัญญาณโลกเดือดเพิ่ม

นโยบายลดโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(GHG) ของประเทศต่าง ๆ ที่ได้มีพันธสัญญาไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปี 2564 มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายตามมาในเวลานี้ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน การออกกฏหมาย การเงิน การพัฒนาอุตสาหกรรมและอื่น ๆ

ขณะเดียวกันหลายประเทศได้ใช้มาตรการเหล่านี้มาใช้ในการกีดกันการค้า  และได้ใช้เป็นแนวทางในความร่วมมือไปพร้อมกัน

ปัจจุบันสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศ/กลุ่มประเทศ ที่มีนโยบายและมาตรการเฉพาะสำหรับการลดโลกร้อน ขณะที่จีนมีกฎหมายการควบคุมการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรม และญี่ปุ่นมีกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช  ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ  ฐานเศรษฐกิจ ” ว่า ปัจจุบันมาตรการหลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของอียูที่สำคัญได้แก่ European Green Deal ซึ่งมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบแล้วตั้งแต่ปี 2019, EUDR ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2025 และ CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2026 (ดูกราฟิกประกอบ) ส่วนสหรัฐมีมาตรการหลักคือ Inflation Reduction Act(IRA) ซึ่งมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2022

อัปเดตกติกาลดโลกร้อน \"อียู-สหรัฐ\" ถึงไหน ผวา“ทรัมป์”คัมแบ็ก โลกเดือดปุด

ทั้งนี้ในมาตรการหรือนโยบายหลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอียูและสหรัฐ จะมีทั้งผลบวกและผลลบต่อการส่งออกสินค้าของไทย รวมถึงการดึงการลงทุนจากต่างประเทศมายังประเทศไทยนับจากนี้และในอนาคต

“มาตรการ CBAM ของอียู ณ ปัจจุบัน ได้มุ่งเน้นในสินค้าอุตสาหกรรมนำร่องประกอบด้วย เหล็ก อลูมิเนียม ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์และไฟฟ้า โดยจะเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนหรือ CBAM ในต้นปี 2569 และหลังจากปี 2569 เป็นต้นไป สินค้าอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก 6 สินค้าข้างต้น จะถูกเก็บภาษีคาร์บอนเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยที่สูงขึ้น และราคาส่งออกสินค้าไปยุโรปจะแพงขึ้น ทำให้ศักยภาพการแข่งขันลดลง“

ใน 6 สินค้าของไทยหากไม่มีการปรับตัวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อถูกเก็บภาษีภายใต้ CBAM คาดจะทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง 16.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 โดยสินค้าเหล็กจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกลดลงมากที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า นับจากนี้ประเทศคู่ค้าจะมีมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น มีเหตุผลมาจาก 4 ปัจจัยหลักได้แก่

1.แรงกดดันจากผู้บริโภค : ผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การที่สินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้อาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาด

2.แรงกดดันจากนักลงทุนที่เน้น ESG : นักลงทุนที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล(ESG) จะให้ความสำคัญกับบริษัทที่ปฏิบัติตามนโยบายลดก๊าซเรือนกระจก(GHG) และความยั่งยืน หากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมไม่สามารถตอบสนองได้ จะทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุน

3.มาตรการการนำของเหลือใช้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า Upcycling เพื่อตอบโจทย์ Zero Waste  และ 4.มาตรการบังคับใช้เหล็กสีเขียว(Green Steel) ในอุตสาหกรรม และใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น นอกจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังส่งเสริมให้ใช้พลังงานไฮโดรเจนในหลายอุตสาหกรรม

อัปเดตกติกาลดโลกร้อน \"อียู-สหรัฐ\" ถึงไหน ผวา“ทรัมป์”คัมแบ็ก โลกเดือดปุด

“นโยบายลดโลกร้อนของไทยในภาพรวมเวลานี้ยังมีความก้าวหน้าค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจ และมาตรการส่งเสริมสนับสนุนในการลดโลกร้อน ลด GHG และที่สำคัญไม่มีต้นแบบห่วงโซ่การผลิตในการดำเนินการในแต่ละกิจกรรมเศรษฐกิจ และยังไม่มีเงินทุนในการปรับตัว

นอกจากนี้ประชาชนคนไทยยังไม่เห็นความสำคัญของการลดโลกร้อนอย่างจริงจัง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในการลดโลกร้อน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่อนาคต“

สำหรับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในด้านหนึ่งมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับการลดโลกร้อน ทั้งนี้หากนางกมลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง ทุกอย่างที่ไบเดนได้ทำไว้จะยังคงอยู่ต่อไป ทั้ง IRA การเข้าร่วมข้อตกลงปารีส และพลังงานสะอาดสะอาด แต่หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งจะมีผลตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะทรัมป์ ไม่เชื่อในโลกร้อน และเคยนำสหรัฐออกจากความตกลงปารีสมาแล้ว โดยทรัมป์ ยังคงเน้นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน และเหล็กที่ไม่ใช่สีเขียว