net-zero
1.1 k

คลังชง ครม.ไฟเขียว ต.ค.นี้ เก็บภาษีคาร์บอน นํ้ามัน-LPG แบตเตอรี่จ่อคิว

    คลังชง ครม.ไฟเขียวเก็บภาษีคาร์บอน ต.ค.นี้ ประเดิมสินค้ากลุ่มน้ำมัน-แอลพีจี แบตเตอรี่คิวถัดไป ดันแบงก์รัฐหนุนผู้ประกอบการปรับธุรกิจสู่สีเขียว สรรพสามิตยันไม่กระทบประชาชน เหตุไม่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น กรมลดโลกร้อน จี้ ออกพ.ร.บ. Climate change กฟผ.ลุยพลังงานสะอาด

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดงานสัมมนา “Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green”เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากวิทยากรในสาขาต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับตัวรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น โดยได้รับเกียรติจากนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือด” โดยมีผู้เข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ในการเดินหน้าของประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้น ถือว่ามีความจำเป็นใน 2 มิติ โดยมิติแรก เป็นเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวเป็นความอยู่รอดของชีวิต และมิติที่ 2 คือความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ หากประเทศไทยไม่ได้รับการการันตีว่าเป็นสีเขียว สิ่งที่จะเผชิญแน่นอน คือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบตัวเลขการกีดกันทางการค้าจากกรณีดังกล่าวเพิ่มขึ้น 16% บ่งบอกถึงทิศทางว่าธุรกิจจะอยู่ไม่รอด หากภาคเอกชนไม่ดำเนินไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

“เวทีโลกนำเรื่องการเข้าสู่สิ่งแวดล้อมสีเขียว มาผูกกับเรื่องเศรษฐกิจ แล้วเป็นข้อกีดกัน ทำให้ประเทศไทยเดินต่อยาก ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง”

เศรษฐกิจสีเขียวเป็นข้อผูกมัด

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเจอ และเป็นพันธสัญญาหากทำไม่ทัน จะมีผลทางด้านลบต่อเศรษฐกิจ คือ ในปี 2030 ประเทศไทยจะต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 30-40% ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเรายังทำไม่ได้ ส่วนปี 2050 จะต้องเดินหน้าสู่ Carbon neutrality และในปี 2065 วางเป้าหมายสู่ Net Zero

ฉะนั้นเศรษฐกิจสีเขียวเป็นข้อผูกมัด และเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะเป็นทางรอดของประเทศไทย และเมื่อต้องทำแล้ว มีหลายภาคส่วนที่ต้องเดินหน้าด้วยกันทุกภาคส่วน กระทรวงการคลังเอง โดยเฉพาะกรมสรรพสามิต มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ รวมทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วย สำหรับสิ่งที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ มิติด้านการเงิน และมิติด้านภาษี

สำหรับในมิติด้านการเงินนั้น กระทรวงการคลังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับตัว เช่น ธนาคาร EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินที่ตื่นรู้ด้านเศรษฐกิจสีเขียวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวกว่า 70,000 ล้านบาท และกำลังจะก้าวสู่เป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่สีเขียว ส่วนธนาคารออมสิน และ SME  D Bank ก็มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อปรับปรุงภาคเอกชนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

เดินหน้าเก็บภาษีคาร์บอน

ส่วนมิติทางด้านภาษีนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในช่วงตุลาคมนี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปี 2567 นี้ โดยแนวคิดการเดินหน้าภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax นั้น เกิดจากปัญหาหลักของประเทศไทยสำคัญที่สุด คือ คนผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ ซึ่งเวลานี้มีความสำคัญ หากไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในการสร้างมลพิษ ทุกคนก็ปล่อยมลพิษ

คลังชง ครม.ไฟเขียว ต.ค.นี้  เก็บภาษีคาร์บอน นํ้ามัน-LPG แบตเตอรี่จ่อคิว

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ คือ ราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอน ที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น เพราะใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต

“ยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ เช่น เดิมการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 6 บาท หากปรับเปลี่ยนแล้วจะกลายเป็นเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม แต่จะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน”

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินภาษีดังกล่าว จากนี้ จะเกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำลง เพราะจะเสียภาษีคาร์บอนที่ต่ำลง ส่งผลให้เกิดการหาน้ำมันที่สะอาดขึ้น ถือเป็นการใช้มาตรการทางภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตต่าง ๆ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยังอยู่ในช่วงพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ชนิดใดก็ตาม แต่ต่อไปนี้จะมีระบบขั้นบันได เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิดผลิตขึ้นมามีความแตกต่างกัน การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่สะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ที่ผ่านมากรมสรรพสมิต ใช้มาตรการสนับสนุนในมิติของรถอีวี ไม่ว่าจะเป็น EV 3.3 และ EV 3.5 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และผลิตรถอีวีชดเชยในประเทศไทย ซึ่งจะมีรถต้องผลิตชดเชยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ไทยสนับสนุนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถอีวี และยังได้สิทธิประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม

ไทยยังไม่มีกฎหมาย บังคับปล่อยคาร์บอน

นางสาวรัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวในหัวข้อ “ภาษีคาร์บอน กลไกขับเคลื่อน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372 ตันคาร์บอนต่อปี โดยส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง คิดเป็น 70% รองลงมาเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย

รัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต

“ตอนนี้เราเหลือเวลาอีก 6 ปี ที่จะต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2030 จาก 555 ล้านตันคาร์บอน ลงมาที่ 333 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งกลไกราคาคาร์บอนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำให้เราก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายนี้ได้”

ดังนั้น ก่อนที่จะมี พ.ร.บ. Climate Change ออกมาบังคับใช้ กรมสรรพสามิต จึงได้เสนอให้มีการใช้กลไกของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต เป็นการเก็บภาษีคาร์บอนนำร่องไปพลางก่อน โดยการเก็บภาษีของสินค้าที่ปล่อยมลพิษสูงและอยู่ในพิกัดสรรพสามิต

สร้างกลไกราคาคาร์บอนในประเทศ

จากการศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศ ในการคำนวณกลไกราคาคาร์บอน โดยการนำสินค้าเชื้อเพลิงจำนวนเท่ากันไปเผาไหม้แล้วบันทึกปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ซึ่งเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีความสะอาดไม่เท่ากัน แต่การดำเนินงานของไทยเบื้องต้นอาจจะพิจารณากำหนดราคาคาร์บอนเป็นราคาเดียว เช่น 200 บาท หรือประมาณ 6 ดอลลาร์

“เมื่อนำราคาคาร์บอนไปคำนวณกับปริมาณเชื้อเพลิงก็จะได้ออกมาเป็นกลไกราคาคาร์บอนที่อยู่ในเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ซึ่งน้ำมันที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ LPG รองลงมาเป็นน้ำมันเตา ดีเซล และเบนซิน”

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตต้องการบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายภาษีคาร์บอนคือ สะท้อนให้ผู้ใช้ตระหนักและเห็นว่าต้นทุนในการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนออกมา แต่ยังไม่ต้องกังวลว่าภาษีคาร์บอนจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่มขึ้น และเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

“แนวนโยบายดังกล่าวเตรียมที่จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนจะมีความชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วจะกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทหรือไม่”

สำหรับนโยบายภาษีคาร์บอนนั้น คาดหวังว่าจะทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้เตรียมความพร้อมสำหรับต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อวางแผนในการคำนวณต้นทุน การลงทุนในการปรับเปลี่ยนนำไปสู่เทคโนโลยีสะอาด ว่ามีความคุ้มค่าแค่ไหน ส่วนภาคประชาชนเองจะได้ตระหนักว่าการใช้ชีวิตมีต้นทุนในการปล่อยคาร์บอน

วิกฤตโลกร้อน ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ Action Green Transition ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่เป็นคำพูดที่ทันสมัย แต่ยังเป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและสังคมของเราให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้วางแผนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero โดยมีเป้าหมายระยะสั้นคือ "การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด" หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ที่ 30-40% ภายในปี 2030 ขณะนี้แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ทั้งพลังงาน ขนส่ง เกษตร ของเสีย และอุตสาหกรรม ได้เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อบังคับใช้

สำหรับเป้าหมายใหม่ในปี 2035 ภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งมีกำหนดส่งภายใน 1 กุมภาพันธ์ 2025 นั้น ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะดำเนินการให้ทัน แม้จะมีความท้าทาย เนื่องจากทั่วโลกต้องการเห็นการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 60% โดยเฉลี่ย

เร่งผลักดันกฎหมายบังคับใช้

ทั้งนี้กรมกำลังเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยมีเป้าหมายไม่ใช่เพื่อ “ฆ่า” ธุรกิจไทย แต่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero บนพื้นฐานของความยั่งยืน

พ.ร.บ. นี้ประกอบด้วย 14 หมวด แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. การลดก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลเป็นรายองค์กร 2. กลไกการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading) ของภาคอุตสาหกรรมเป็นรายสาขา 3. การจัดสรรสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความสามารถในการผลิตและปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา

ทั้งนี้ คาดว่า พ.ร.บ. นี้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในปี 2025 เพื่อส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2026

“พ.ร.บ.ฉบับนี้ เสนอคณะอนุกรรมการทางกฎหมายไปแล้วทั้งหมด 14 ครั้ง เหลืออีก 2 ครั้งที่จะไปคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือนตุลาคม จากนั้นจะเสนอเข้า ครม. เพื่อรับหลักการและส่งไปยังกฤษฎีกาตรวจร่างจะใช้เวลานานเท่าไหร่ตอบไม่ได้ เเต่จากนั้นก็ไปสภาฯ ตามวาระและนำไปสู่การบังคับใช้ กรมต้องการเห็นการบังคับใช้ในปี 2026”

ตั้งกองทุนภูมิอากาศ ลดความเสี่ยง

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดภาพรวมของความเสี่ยงในระดับจังหวัด ทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมหรือภัยแล้ง เป็นไปอย่างยากลำบาก การพัฒนา Climate Data Center ของกรมในปี 2568 จะช่วยให้มีข้อมูลที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อการวางแผนและการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน

รวมถึงกลไกที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องภาษี เเละ ETS ซึ่งก็คือการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิต และการตั้งกองทุนภูมิอากาศ โดยจะมีแหล่งเงินจากหลายแหล่ง เบื้องต้นจะขอจากรัฐบาลไม่เกิน 5,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปี จากนั้นจะมีแหล่งเงินจากการประมูลสิทธิ์ก๊าซเรือนกระจกและมีแหล่งเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศที่เป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องเก็บ

กฟผ.ลุยพลังงานสะอาด

นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวภายใต้หัวข้อ การพัฒนาพลังงานสะอาด ว่า บทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมีอยู่ 2 พันธกิจ ประกอบด้วย

1.บทบาทในเรื่องของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียว หรือพลังงานสะอาดให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งจะมีหลายบาทบาท โดยปัจจุบัน กฟผ. ไม่ได้เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพียงผู้เดียว จะมีบทบาทจากภาคธุรกิจ ภาคเอกชน มีส่วนในการพัฒนาพลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน

ในบทบาทดังกล่าวนี้ กฟผ. จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ซึ่งจะเป็นต้นแบบในเรื่องการพัฒนาพลังงานสะอาดบนพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว คือพื้นที่เขื่อนต่าง ๆ ที่มีอยู่ 10 เขื่อนทั่วประเทศ

ขณะที่ภาคเอกชนก็มีการลงทุนพลังงานสีเขียว ทั้งจากต่างประเทศ ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาวก็มีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานสีเขียวจากพลังงานน้ำ รวมถึงการพัฒนาพลังงานสีเขียวจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งภาคเอกชนจะมีขยายการพัฒนาว่าเป็น IPP ,SPP และ VSPP โดยจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียว

ธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ กฟผ. ยังดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มขีดความสามารถของระบบส่ง เพราะแหล่งพลังงานผลิตได้อยู่ในพื้นที่ แต่ลูกค้าหรือผู้ใช้ไฟฟ้าจะอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นสายส่งก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำพาพลังงานสีเขียวไปให้ผู้ใช้พลังงานสีเขียวได้

พัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจน

อีกทั้ง ยังมองไปไกลถึงอนาคตว่า หากมีเชื้อเพลิงอะไรที่มาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลิตไฟฟ้าได้เหมือนกัน โดยปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งเน้นไปสู่เชื้อเพลิงที่เรียกว่าไฮโดรเจน หรือแอมโมเนีย ซึ่งสามารถนำมาทดแทนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติได้ ซึ่ง กฟผ. ได้มีความร่วมมือที่จะศึกษาร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียที่จะพัฒนาในเรื่องการนำเทคโนโลยีการใช้ไฮโดรเจน และแอมโมเนียมาใช้แทนฟอสซิล

2.การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบไฟฟ้าให้รองรับกับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนให้ได้ โดยถือเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างมาก เพราะอย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพลังงานหมุนเวียนจะผลิตได้ช่วงกลางวัน ซึ่งบางครั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ในช่วงหัวค่ำ หรือกลางคืน เพราะฉะนั้นการเสริมระบบส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัย และยืดหยุ่นที่เราเรียกว่า Grid Modernization จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเรื่องนำการพัฒนาพลังงานสะอาดของไทยให้ไปสู่หมุดหมายที่วางไว้ได้

อีกทั้ง ยังมีการจัดการเรื่องความแข็งแกร่งของระบบส่ง เพื่อรองรับกับพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเรื่องของเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการจัดการทางด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบกักเก็บพลังงาน การพัฒนาระบบสายส่งของไทยในอนาคต เพื่อตอบโจทย์พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องการจัดเก็บพลังงาน ที่เรียกว่าการบริหารจัดการพลังงาน ระบบจัดการพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่ที่ใช้ระบบส่งที่เรียกว่า Grid-Scale BESS ซึ่งจะมีส่วนช่วยสำคัญ

“ในช่วงพลังงานสะอาดที่เป็นพลังงานแสงอาทิตตย์ หรือเป็นลมที่ผลิตเกินความต้องการ แต่คิดว่าใช้ไม่หมด คงไม่ได้ปล่อยพลังงานดังกล่าวให้สูญหายไป ดังนั้น จึงต้องมีระบบระบบกักเก็บไว้ก่อน หลังจากนั้นในช่วงความต้องการใช้ไฟเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงหัวค่ำก็สามารถใช้ระบบกักเก็บนำมาปล่อยไฟฟ้าในระบบสายส่ง และส่งให้ผู้ใช้ไฟต่อไปได้ในอนาคต”

ที่ผ่านมา กฟผ.มีโครงการนำร่องที่จังหวัดชัยภูมิ และลพบุรี ซึ่งในอนาคตหากพลังงานสะอาด และพลังานสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นตามแผน PDP ก็จะพบว่าภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะเป็นส่วนที่ช่วยจัดการพลังงานส่วนเกินในระบบได้

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่เรียกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydropower : PSH) โดยปัจจุบันมีที่เขื่อนลำตะคอง เขื่อนภูมิพล หรือเขื่อนศรีนครินทร์ มีข้อดี เพราะสามารถช่วยจัดการพลังงานที่มีขนาดใหญ่ได้ และสามารถถ่ายเทพลังงานเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงพลังงานส่วนเกิน หากมองทางเลือกว่าจำเป็นต้องสร้างสายส่งเพื่อส่งพลังงาน ไปเก็บหรือใช้ที่อื่น หากใช้วิธีเก็บไว้ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะช่วยลดต้นทุนการลงทุนด้านสายส่งได้ในอนาคต กฟผ. ก็มีแผนที่จะทำในพื้นที่ต่าง ๆ ในปี 2037 ทั้งที่เขื่อนจุฬาภรณ์ วชิราลงกรณ์ และภาคใต้

นายธวัชชชัย กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญที่ช่วยควบคุมเรื่องการบริหารส่งจ่ายไฟอย่างเพียงพอทุกนาที โดยจะช่วยบริหารจัดการพลังงาน เรียกว่า ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) ซึ่งจะใช้โมเดลเรื่องการผลิตโซลาร์ พลังงานลม และพยากรณ์ 1 วันล่วงหน้า สามารถพยากรณ์ได้ 6 ชั่วโมงล่วงหน้า เพื่อวางแผนเรื่องการผลิตไฟฟ้าในทุกนาทีให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4031วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. พ.ศ. 2567