บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTC ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการแต่งตั้งนางพิทยา วรปัญญาสกุล ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ทำให้เธอเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของบริษัท ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของวงการธุรกิจไทยที่ให้โอกาสผู้หญิงได้แสดงศักยภาพในตำแหน่งสูงสุด
“พิทยา วรปัญญาสกุล” ไม่เพียงเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของ KTC เท่านั้น เธอยังได้รับคัดเลือกจากนิตยสารฟอร์จูนให้เป็น 1 ใน 100 “สตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย ประจำปี 2567” และนับเป็น 1 ใน 14 ผู้บริหารหญิงของประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับอันทรงเกียรตินี้
ด้วยประสบการณ์ในวงการบัตรเครดิตยาวนานกว่า 30 ปี นางพิทยา ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถและความเชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน "พิทยา" เริ่มต้นเส้นทางอาชีพที่ KTC ด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโส และตำแหน่งสำคัญๆ อีกมากมาย ก่อนจะขึ้นเป็นเบอณ์หนึ่งขององค์กร
“ฐานเศรษฐกิจ” พูดคุยกับ “พิทยา วรปัญญาสกุล” ถึงเส้นทางความสำเร็จดังกล่าวพบว่า เส้นทางอาชีพของนางพิทยาไม่ได้เริ่มต้นจากสายงานการเงินอย่างที่หลายคนอาจคาดคิด เธอจบการศึกษาในสาขาบริหารการท่องเที่ยว และเริ่มต้นอาชีพในวงการโรงแรม
"อยู่ในธุรกิจโรงแรมมาประมาณ 4 ปี ก็รู้สึกว่า ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางมาทำงานในวงการบัตรเครดิตที่อเมริกัน เอ็กซ์เพรส 6ปี แล้วไปอยู่ที่อื่น 2 ปี ก่อนจะเข้าร่วมงานกับ KTC ในปี 2540"
นางพิทยาเปิดเผยว่า ช่วงนั้นเคทีซีเค้าไปสรรหาคนจากทางอเมริกัน เอ็กเพรส เพราะตอนนั้นเคทีซีแยกออกมาจากธนาคาร กรุงไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปีนั้นก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไร แรกๆ ก็รับผิดชอบด้านการตลาด ช่วงต้นที่เข้ามาจำนวนบัตรของเรายังเล็กมาก ประมาณ 70,000 ใบเท่านั้น
“ที่แยกออกมาจากกรุงไทย ก็เพื่อความคล่องตัว แล้วก็เป็นโอกาสในการเติบโต ช่วงนั้นเคทีซี นโยบายในการทําการตลาดคือ ต้องสร้างฐานลูกค้าให้มันเร็วที่สุด ให้มันใหญ่ ช่วงต้นๆ จึงเป็นแผนการตลาดที่ค่อนข้างจะมีสีสันมากๆ แล้วก็สามารถที่จะขยายฐานลูกค้าจํานวนมากขึ้นมาได้”
สิ่งที่ทําให้ชื่อเคทีซีเป็นที่จดจําได้ ก็เกิดจากการที่เราทําการตลาดที่แปลกแตกต่างและกล้า ขณะที่แบงก์ในยุคนั้นยังทำอะไรที่ระมัดระวัง มันก็เลยเป็นโอกาสของบัตรกรุงไทย เป็นอะไรที่เทรนดี้มากๆ และอยู่ในกลุ่มคนที่อายุน้อยๆทันสมัย เปลี่ยนโฉมจากการที่เป็นธนาคาร กรุงไทย
ซึ่งตอนแรกคนยังแยกไม่ออก ขณะที่กรุงไทยก็จะมีความเป็นรัฐอยู่ ซึ่งข้อดีของการที่เรามีธนาคาร กรุงไทยคือ ทําให้เรามีความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ก็จะเป็นภาพที่เรามองว่าเรามีความน่าเชื่อถืออยู่ และเจาะคนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม หลังขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา “พิทยา” บอกว่า ถือเป็นความท้าทาย แม้จะไม่ได้เป็นสิ่งที่วางแผนเอาไว้อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่อยู่มานานมาก จนเข้าใจภารกิจของเคทีซี แล้วเรารู้ว่า ทีมทั้งหลายมีความแข็งแรง ไม่ได้มีความกังวลเรื่องทีมเลย
“ตอนที่ทราบว่า ได้รับมอบหมายเป็นซีอีโอ ก็ไม่ได้หนักใจ เพราะเชื่อว่า ทีมเก่ง เพียงแต่ว่า ตอนแรกอาจไม่ได้เตรียมใจว่า ต้องทํางานต่อ แต่ก็ไม่ได้ยากอย่างที่กลัว ไม่ได้ยากอย่างที่คิด”
สิ่งที่บอกน้องๆไปว่า เราจะทำงานด้วยกันคือ การสื่อสารที่ดีขึ้น เพราะว่า จริงๆแล้วพอคนเก่งอยู่ด้วยกัน แต่เค้าเป็นคนเก่งที่ทํางานด้วยกันมาเป็น10ๆ ปีเหมือนกัน แต่เราต้องสื่อสารกัน คุยกันให้มากขึ้น แล้ววัฒนธรรมของเราคือ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่เราจะทำสิ่งที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ทําเรื่องอะไรก็ตาม แต่ถ้าทําให้มันง่ายขึ้นได้ จะไม่ซับซ้อน และอันที่สามคือ ทำอะไรให้มันมีความความหมายยิ่งขึ้น
ดังนั้น 3 culture นี้จะเป็น 3 for value เป็นตัวที่เรายึด เพื่อใช้ในการทํางาน เพื่อใช้ในการซื้อขาย เพื่อใช้ในการตัดสินใจ ดังนั้น ถ้าเกิดมันเป็นเรื่องที่ดีอย่างที่คุณพูดออกมา แล้วมันเป็นเรื่องที่มันเกิด เรามีกติกาของเราในการทํางาน
ดังนั้นปีที่ผ่านมา จึงเป็นปีที่ทํางานสนุกมาก เพราะว่า มันเกิดการคุยกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น แล้วทุกคนก็เหมือนสนุกกับงาน
“พี่บอกน้องๆว่า เราต้องพิสูจน์ตัวเองนะว่า พี่ๆที่เค้าไปแล้ว เราทําได้ สําหรับปีที่ผ่านมา พี่เป็นซีอีโอที่โชคดีนะคะว่า เรามีทีมงานที่พร้อม เพราะมาจากที่มาจากสายการตลาด ที่อาจไม่ได้เก่งเรื่องไอที อาจไม่ได้เก่งเรื่องการเงิน สิ่งที่พี่ต้องทําคือ พี่ต้องถาม ต้องเรียนรู้ให้เร็ว”
อย่างในส่วนของการตลาด บัตรเครดิตที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของเรา จะมีมือรองอยู่แล้ว เพราะเตรียมบุคคลที่จะเป็นผู้สืบทอดมาหลายปี และคนที่จะขึ้นมาเป็นเฟิร์สไลน์ ก็เป็นคนที่เล็งกันมาแล้ว
ส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องไอทีหรือเรื่องการเงิน เป็นเรื่องที่่อาจไม่รู้ลึก แต่โชคดีที่มี CFO ก็เก่ง ขณะที่ด้าน IT ตอนนี้ก็มีไอทีคนใหม่ ที่เค้ามาแค่ไม่ถึงครึ่งปี แต่ก็ดูเหมือนเค้าอยู่ในวัฒนธรรมของเราได้ง่ายมาก
นางพิทยากล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะซีอีโอมาหนึ่งปี สิ่งที่ท้าทายเป็นเรื่องข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ที่ทําให้เราโตยาก และยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือนอีก ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่ทางภาครัฐเองก็ต้องการจะช่วยแก้ไขปัญหา ดังนั้นนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็อาจจะกระทบกับเราบ้าง ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ มันเกิดขึ้นกับทุกคน
“เราจะต้องปรับตัวเรา ต้องปรับกระบวนการทํางาน ต้องจัดลำดับความสำคัญ เพราะเรามีโครงการมากมาย บางโครงการก็ต้องถอย พี่ก็ต้องตัดสินใจ เรียนรู้ที่จะต้องฟัง แล้วก็ตัดสินใจ ต้องกล้าที่จะตัดสินใจ นั่นต้องเป็นคุณสมบัติของคนที่เป็นซีอีโอ คือต้องคิดให้ถึงทุกท่านที่เกี่ยวข้อง”
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นซีอีโอที่โชคดีที่คณะกรรมการบริษัท ซึ่งคุณระเฑียร ศรีมงคลยังเป็นกรรมการ ที่ยังทํางานใกล้ชิดกับคุณระเฑียร มีอะไรก็ปรึกษาได้คิดว่า คณะกรรมการบริษัทเป็นส่วนสําคัญ
ส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนซีอีโอในการทำงาน และยังคำมั่นสัญญาว่า สิ่งที่คุณระเฑียรเคยบอกว่า เราจะทํากําไรได้สูงขึ้นทุกปี ก็ยังเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้กับนักลงทุนของเรา ให้กับผู้มีส่วนได้เสียของเราทุกปี
เราสัญญาว่า พอร์ตฟอริโอเป็นสิ่งเราให้ความสำคัญ จะต้องมีคุณภาพ ดังนั้นแม้ว่า เราจะโตน้อย แต่พอร์ตเราต้องมีคุณภาพ ระดับเอ็นพีแอลของเราต้องอยู่ในระดับที่ให้คำมั่นไว้ คือ ไม่สูงกว่า 2% แม้ปีที่แล้ว จะตั้งเป้าไว้สูง แต่เมื่อเห็นสัญญาณว่าจะไมไ่ด้ตามเป้าแล้ว แต่เราก็ไมไ่ด้ปรับลดเป้าลง โดยบัตรเครดิตยังโต 15% พอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลโต 5% พอร์ตพี่เบิ้มโต 6,000 ล้านบาท
"เป็นเป้าที่เรารู้ว่า ยาก แต่แม้ว่า จะไม่ได้ตามเป้า แต่ถ้าเทียบในระดับอุตสาหกรรมแล้ว เราต้องดีกว่า นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ เรามีฐานลูกค้า 2.2 ล้านคน เราต้องโตกว่าอุตสาหกรรมให้ได้"
ปี 2568 เรามั่นใจว่า เราทำได้ โดยเฉพาะเราต้องปรับปรุงด้านบริการ เพราะเชื่อว่า การแข่งขันด้านการตลาดมันเป็นส่วนหนึ่ง แต่สำคัญต้องแข่งขันกันเรื่องบริการ เป็นเรื่องของความปลอดภัยในการใช้บัตร ซึ่ง สิ่งที่เราพูดมาทั้งหมด จะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มี IT
ดังนั้นปี 2568 บริษัทจะเดินหน้าพัฒนาระบบด้านเทคโนโลยี (IT) ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะระบบไอทีหลัก (Core System)ใหม่ เพื่อช่วยในเรื่องการขับเคลื่อนด้าน Digital ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในหลายด้าน ทั้งการบริการ การนำข้อมูลต่างๆ ไปใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาทักษะของบุคลากรให้รองรับการนำเอา Digital เข้ามาใช้ในทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถสร้างรายได้เพิ่ม และลดต้นทุนในการทำงาน
“ระบบ Core System ของ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะใช้งานมา 12 ปี เพราะขนาดของลูกค้าเยอะขึ้น ผลิตภัณฑ์ บริการต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป"
ทั้งนี้ คาดว่า จะเริ่มใช้ระบบใหม่ได้ในต้นเดือนกันยายนปีหน้าหลังจากดีเลย์มาเล็กน้อย ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนให้เราสามารถพัฒนากระบวนการต่างๆ ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น รวมถึงการนำเอา AI และ DATA เข้ามาใช้ในเชิงลึกกว่าเดิมด้วย
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,066 วันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568