เศรษฐา มองไทย ถดถอย ความเหลื่อมล้ำ ทำคนเก่ง ไม่อยากอยู่ในชาติ

28 พ.ย. 2565 | 05:43 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2565 | 06:14 น.
622

เศรษฐา ทวีสิน มองเมืองไทยถดถอยทุกมิติ ความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนเก่งไม่อยากอยู่ในชาติ จะแก้ปัญหาต้องบังคับทำ แม้มีคนเสียประโยชน์

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหลักสูตรของชนชั้นนำมากที่สุด ในแต่ละหลักสูตร ก็มีความเหลื่อมล้ำ ให้อวดกันว่าใครเรียนรุ่นไหน อย่างไร อวดความร่ำรวย อวดสินค้าราคาแพง อวดรถราคาแพง สิ่งเหล่านี้ หากลดลงมาบ้างก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ควรให้สังคมมีความเหมาะสม มีความพอประมาณ ไม่อวดวัตถุกันจนเกินพอดี

 

นาย เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) แสดงความคิดเห็นต่อทิศทางของประเทศไทย รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาประเทศ ในงานเสวนา “ถอดบทเรียน ฝ่าวิกฤต”  ในหลักสูตร Wealth of Wisdom ว่า ทิศทางของประเทศขณะนี้ เชื่อว่าคน 90%เห็นตรงกัน ว่าไม่ถูกทาง มีความถดถอยในทุกมิติ ทั้งเรื่องปากท้อง การบริหารเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การเมือง และ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 

 

นายเศรษฐา พูดถึงมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่ให้พื้นที่กับลูกท่านหลานเธอ ทั้งที่ยังมีคนรุ่นใหม่อีกมาก ที่เรียนเก่ง ที่มีความสามารถ แต่ไม่มีพื้นที่ให้การชื่นชม , การเข้าถึงวัคซีนของอภิสิทธิ์ชน หรือการที่คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่ หมดความหวังกับประเทศ ทำให้คนเหล่านี้อยากไปอยู่ที่อื่น แม้แต่คนรุ่นใหม่ที่มีเงิน ได้รับการปฏิบัติแบบอภิสิทธิชนในประเทศ แต่ไม่ชอบการปฏิบัติแบบไม่เท่าเทียม ก็ทำให้อยากใช้ชีวิตในประเทศอื่นที่มีความเสมอภาค

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น นายเศรษฐา ให้ความเห็นว่า ทุกคนพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่คุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา หรือ แค่เอาไว้คุยสนุกสนานกับเพื่อนฝูงเท่านั้นเอง

นาย เศรษฐา ทวีสิน

ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่แก้แล้วจะไม่มีใครเดือดร้อน เป็นไปไม่ได้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องใช้เงิน ซึ่ง ถ้ากู้ ก็ถูกด่าว่าใช้หนี้ 7 ชั่วโคตร ถ้าไม่กู้ ก็ต้องหารายได้ ต้องเก็บภาษี ซึ่งก็ควรเก็บจากคนรวย ไม่ใช่เก็บจากคนจน ซึ่งเป็นแบบนั้น คนรวยที่เคยโหวตอยากให้เป็นนายกฯ ก็อาจรู้สึกว่าเลือกผิด

 

"ภาษีมรดก ประเทศอื่นเก็บ 40% ญี่ปุ่นเก็บ 50% ภาษีที่ดิน ก็ต้องเก็บให้ถูกต้อง ไม่ใช่เจ้าสัวเอาที่ราคาสูง ไปปลูกกล้วย ปลูกอ้อย เป็นสิ่งที่ควรต้องแก้ไขให้เหมาะสม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม ซึ่งรากลึกของสังคมไทย ต้องการได้แต่ประโยชน์ ไม่ต้องการให้มีอะไรมากระทบกับตัวเอง เพราะฉะนั้น อะไรที่ถูกต้อง แม้จะไม่ถูกใจ ก็ต้องบังคับทำไปเลย ถ้าไม่ทำก็ไม่เกิด" นายเศรษฐา กล่าว