มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ได้เห็นชอบการขอยกเลิกโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และขอเสนอโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/2568 ผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี รอบที่ 1 ปีการผลิต 2567/2568 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (ผ่านการตรวจสอบ) ตามเป้าหมาย 4.61 ล้านครัวเรือนวงเงินงบประมาณ 38,578.19 ล้านบาท
โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ หรือ หรือไม่เกิน 10,000 บาท โดยช่วยเหลือทุกพันธุ์ข้าว และไม่มีการหักเงิน หากได้รับความช่วยจากภัยธรรมชาติไปแล้ว ทั้งนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2567 เป็นต้นมา
แหล่งข่าวจากคณะทำงานในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/2568 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากแผนการส่งข้อมูลให้กับ ธ.ก.ส.เพื่อโอนจ่ายเงินให้กับชาวนา 3 รอบแล้ว มีจำนวนเกษตรกร 4.42 ล้านครัวเรือน 8.85 ล้านแปลง 58.69 ล้านไร่ ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ธ.ค. 2567) โอนเงินสำเร็จแล้ว 4.42 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 35,303 ล้านบาท และยังโอนไม่สำเร็จ 12,138 ครัวเรือน จำนวนเงิน 81.8 ล้านบาท สาเหตุจากบัญชีชื่อ-สกุล ไม่ตรง,บัญชีถูกอายัด,บัญชีผิด และบัญชีติดข้อจำกัด เป็นต้น
ทั้งนี้แผนการส่งรายชื่อทะเบียนเกษตรกรระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับ ธ.ก.ส. โดยมีแผนการจัดส่งข้อมูลทุก ๆ 2 สัปดาห์ ล่าสุดเดือนมกราคม 2568 มีแผนการจัดส่ง 2 รอบ ได้แก่ วันที่ 6 และวันที่ 16 , เดือนกุมภาพันธ์ 2 รอบ ได้แก่ วันที่ 3 และวันที่ 17 , เดือนมีนาคม มี 3 รอบ ได้แก่ วันที่ 3 และวันที่ 17 และ วันที่ 27 ส่วนเดือนเมษายน แผนการจัดส่งมีการปรับใหม่เป็นส่งข้อมูลเดือนละครั้ง ซึ่งจะส่งข้อมูลรายชื่อในวันที่ 28 ,เดือนพฤษภาคม จะส่งข้อมูลให้วันที่ 26, เดือนมิถุนายน จะส่งข้อมูลให้ วันที่ 30 , เดือนกรกฎาคม จะส่งข้อมูลให้ธ.ก.ส. วันที่ 29 และเดือนสิงหาคม จะส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. ในวันที่ 1 กันยายน 2568
อย่างไรก็ดีจากการคำนวณเบื้องต้นคาดว่าจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวมากว่าครึ่งทางแล้ว ยังเหลือเกษตรกรภาคใต้อีกจำนวนพื้นที่ 5 แสนไร่ (ยังไม่ได้กลั่นกรองความซํ้าซ้อน) คาดว่าจะเกินกว่าจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจาก มติ ครม.ที่กำหนดกรอบไว้ เนื่องจากมติ ครม.ใช้กรอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2566/67 ใช้เทียบเคียงจากฤดูกาลที่แล้ว แต่พอ
ปีนี้เกษตรกรมีการแบ่งแปลง แตกครัวเรือนเพิ่ม ในขณะที่จำนวนพื้นที่เท่าเดิม ส่งผลทำให้จำเป็นที่จะต้องขอเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องแจ้งไปยังกรมการข้าว เพื่อส่งต่อเรื่องที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต และคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในลำดับถัดไป เพื่อไม่ให้โครงการสะดุด ซึ่งอาจส่งผลให้แผนธ.ก.ส.การจ่ายเงินล่าช้าไปด้วย
กรณีดังกล่าว นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยืนยันว่าได้มีการสอบถามการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไปที่นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว คาดจะมีเกษตรกรในภาคใต้คงเหลือประมาณ 5 หมื่นครัวเรือน เมื่อคำนวณแล้วยังอยู่ในกรอบ มติ ครม. 4.61 ล้านครัวเรือน ไม่ต้องขยายวงเงินเพิ่มเติม
“หน้าที่ของกระทรวงนับจากนี้จะต้องช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือ ไปในรูปแบบให้ชาวนาพึ่งพาตนเองได้ เพราะชาวนาเองก็ไม่ต้องการขอเงินจากภาครัฐ เพียงแต่ต้องให้ชาวนาได้เมล็ดพันธุ์ข้าวดี ตอบโจทย์ตลาด ดังนั้นจึงเป็นมาในการกระจายเมล็ดพันธุ์ดีผ่านศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์กระจายสู่ชาวนาให้เร็วที่สุด”
อย่างไรก็ดีในแต่ละปีต้องยอมรับว่างบประมาณไม่เพียงพอในการขยายศูนย์ข้าวชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องนํ้า ยกตัวอย่างพื้นที่ปลูกข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.5 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตร 64.29 ล้านไร่ กรมชลประทาน ได้งบ 8 หมื่นล้านบาท หากแบ่งงบกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นงบผูกพันที่ทำโครงการต่อเนื่อง แล้วเหลือจะไปเปิดโครงการใหม่ที่ใช้งบเป็นหมื่นล้านบาทคงไม่เพียง ถือเป็นโจทย์ใหม่และความท้าทายของกระทรวงฯที่จะต้องเร่งดำเนินการในปี 2568-2569 หากทำสำเร็จชาวนาคงไม่เรียกร้องรัฐบาลให้อุดหนุนในรูปแบบนี้อีก
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,061 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2568