"บีโอไอ" ลุยดึงลงทุน ดันตัวเลข 3 ล้านล้านใน 5 ปี สู้โลกแบ่งขั้ว

27 พ.ย. 2567 | 04:38 น.

การลงทุนของภาคเอกชนเป็นอีกภาคส่วนสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ และช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกไทยในอนาคต

จากข้อมูลของบีโอไอ ช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 มีโครงการของคนไทย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขอรับการส่งเสริมจำนวน 2,195 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 7.22 แสนล้านบาท

ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และสงครามจริงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของหลายคู่ของโลกที่ยังร้อนแรง โดยล่าสุดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ถูกยกระดับและมีความเสี่ยงจะกลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโต้ ซึ่งทิศทางการลงทุนไทยปี 2567 ต่อเนื่องปี 2568 จะเป็นอย่างไรนั้น “นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ไว้อย่างน่าสนใจ

ดัน 5 ปี ขอส่งเสริม 3 ล้านล้าน

นายนฤตม์ กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 -2570) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่  (New Economy)” บีโอไอได้กำหนดเป้าหมายมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไม่ตํ่ากว่า 3 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปี โดยในปี 2566 มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมลงทุนเข้ามาแล้ว 8.4 แสนล้านบาท

สำหรับปี 2567 การลงทุนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เดิมบีโอไอได้คาดการณ์มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมตลอดทั้งปีจะไม่ตํ่ากว่า 8 แสนล้านบาท แต่ปรากฎตัวเลขในช่วง 9 เดือนแรก มีคำขอรับการส่งเสริมเข้ามาแล้วกว่า 7.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยปกติแล้วสัดส่วนการลงทุน FDI จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40-60 ของเงินลงทุนทั้งหมด แต่จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ส่งผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดกระแสการโยกย้ายการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อกระจายความเสี่ยง ทำให้เงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

\"บีโอไอ\" ลุยดึงลงทุน ดันตัวเลข 3 ล้านล้านใน 5 ปี  สู้โลกแบ่งขั้ว

โดยตั้งแต่ปี 2565-2567 สัดส่วนมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมของ FDI อยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-75 ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ PCB Data Center ขนาดใหญ่ เป็นต้น

โลกจัดระเบียบซัพพลายเชนใหม่

สำหรับทิศทางแนวโน้มการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2568 ยังมองว่าปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี รวมถึงสงครามทางทหารในภูมิภาคตะวันออกกลางจะยังคงยืดเยื้อ และมีโอกาสยกระดับในอนาคต ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการจัดระเบียบซัพพลายเชนใหม่ของโลก รวมถึงการโยกย้ายฐานการผลิตของบริษัททั่วโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตก เพื่อกระจายความเสี่ยง และหาแหล่งลงทุนเพื่อการเติบโตในระยะยาว

“ในแง่ของเงินลงทุน ปีหน้าจะเป็นปีที่การลงทุนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

โดยสาขาอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการลงทุนสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง คลัสเตอร์ของแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ธุรกิจ Data Center และ Cloud Service การผลิตพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล หรือพลังงานใหม่อย่างเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ จะช่วยสร้างงานที่มีคุณค่าให้กับคนไทย และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้นด้วย

เร่งทุกด้านจูงใจดูดลงทุน

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องที่ประเทศไทยต้องเร่งผลักดัน เพื่อสร้างฐานแห่งการเติบโตในอนาคตให้ยั่งยืน เช่น การผลักดันมาตรการสนับสนุนที่ครบวงจรเพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ ผ่านกลไกที่รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เช่น Semiconductor Board และ EV Board, การจัดหาและพัฒนาบุคลากรเชิงรุกในสาขาเป้าหมาย, การผลักดันการจัดหาพลังงานสะอาดให้แก่นักลงทุนให้เพียงพอ มีประสิทธิภาพ และมีราคาที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

การจัดหาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมให้เพียงพอ, การแก้ไขปัญหานํ้าแล้ง-นํ้าท่วมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรม, การปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการไทย ให้สามารถยกระดับขีดความสามารถและใช้โอกาสนี้เจาะเข้าไปสู่ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมระดับโลกที่เข้ามาลงทุนในไทย ดังที่เราเคยประสบความสำเร็จในการสร้างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในอดีต

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,048 วันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567