ทิศทางการขยายธุรกิจของบางกอกแอร์เวย์ส ไม่เพียงการขยายธุรกิจสายการบินเท่านั้น ยังเดินหน้าขยายสนามบินในพอร์ตโฟลิโอต่อเนื่อง และมองโอกาสร่วมทุนกับการบินไทย ดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO อู่ตะเภา) มูลค่าการลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส มีคำตอบ
บางกอกแอร์เวย์ส มองโอกาสขยายลงทุน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul) หรือ MRO โดยมีแผนจะร่วมทุนกับการบินไทย ลงทุน MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่การบินไทยได้รับสิทธิ์ จากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังจากที่โรงซ่อมเดิมของการบินไทยถูกรื้อถอนออกไป โดยล่าสุดบางกอกแอร์เวย์ส ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับการบินไทย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจ MRO อู่ตะเภา
ทิศทางการดำเนินธุรกิจของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ปี 2568
เบื้องต้นทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น โดยการบินไทยต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เราก็มองไว้ว่าการบินไทยน่าจะอยู่ที่ 60 % และ บางกอกแอร์เวย์ส ถืออยู่ที่ 40 % ซึ่งโครงการ MRO อู่ตะเภา จะใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาทในการร่วมกันลงทุน ครอบคลุมการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง
การจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการให้บริการ เป็นต้น โดยคาดว่าการเจรจาและวางแผนการดำเนินงานร่วมกับทางการบินไทย จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนก็น่าจะได้ข้อสรุป
ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งนี้จะให้บริการทั้งเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์สและการบินไทย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการส่งเครื่องบินไปซ่อมบำรุงที่ต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการแก่สายการบินอื่นๆ ที่บินเข้ามาในประเทศไทยด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับโครงการ
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ
อีกทั้งการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ร่วมกับการบินไทยครั้งนี้ จะช่วยเสริมความครบวงจรให้กับอุตสาหกรรมการบินของไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยการบินไทยจะให้บริการซ่อมเครื่องบินลำตัวกว้าง ส่วนบางกอกแอร์เวย์ส ก็จะเป็นเครื่องบินทางเดินเดี่ยว หรือเครื่องที่เล็กกว่า เป็นต้น
นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะมีอัตรากำไรไม่สูงมาก (มาร์จิ้น) ประมาณ 10% เนื่องจากมีต้นทุนการดำเนินงานสูง แต่การมีศูนย์ซ่อมบำรุงของตนเองจะช่วยลดการพึ่งพาต่างประเทศ เพราะวันนี้เครื่องบินต้องไปซ่อมที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการฝูงบิน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอะไหล่และการรอคิวซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ที่ยาวนานขึ้นจาก 1-2 เดือน เป็น 6 เดือน
ทั้งนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งนี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบและขั้นตอนที่ซับซ้อน ในการส่งอะไหล่ การนำเครื่องบินเข้า-ออก ซึ่งทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่น โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่มีความคล่องตัวสูงกว่า
“ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในไทย คือเรื่องกฎระเบียบและขั้นตอนที่ซับซ้อน ซึ่งต่างจากสิงคโปร์ที่มีความคล่องตัวมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าและส่งออกอะไหล่ ซึ่งที่สิงคโปร์สามารถทำได้ทันที หรือ ภายใน 2 ชั่วโมง ขณะที่ในไทยอาจต้องใช้เวลานานกว่าเป็นวัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการบูรณาการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น กรมศุลกากร กรมสรรพากร เพื่อคล่องตัวในการทำงาน ส่งเสริมธุรกิจนี้อย่างจริงจัง”
ขณะเดียวกันบางกอกแอร์เวย์ส จะลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาทในการขยายและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารสนามบินสมุย หลังจากได้รับอนุญาตให้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินจาก 50 เที่ยวต่อวัน เป็น 73 เที่ยวต่อวัน โดยมีแผนขยายพื้นที่ให้บริการจาก 2,000 ตารางเมตร เป็น 4,000 ตารางเมตร เพิ่มจุดผู้โดยสารเข้า-ออกจาก 7 จุด เป็น 11 จุด
การปรับปรุงระบบการเข้า-ออกของผู้โดยสารให้สะดวกสบายมากขึ้น แก้ปัญหาคอขวดในช่วงที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก รองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวในเกาะสมุย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 4 ปีนี้ และจะทยอยก่อสร้างโดยไม่ปิดอาคารเดิม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีจึงจะแล้วเสร็จทั้งหมด เมื่อแล้วเสร็จ สนามบินสมุยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 6 ล้านคนต่อปี จากปีที่แล้วรองรับผู้โดยสาร 2.7 ล้านคน
นอกจากการขยายอาคารผู้โดยสารหลักแล้ว บางกอกแอร์เวย์สยังมีแผนพัฒนาเทอร์มินอลสำหรับเครื่องบินส่วนตัว (Private Jet Terminal) บริเวณลานจอดอีกฝั่งของสนามบินสมุย ซึ่งมีลานจอดขนาดใหญ่สามารถรองรับเครื่องบินได้ประมาณ 4-5 ลำ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์และนักท่องเที่ยวกลุ่ม VIP ที่นิยมเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับการให้บริการของสนามบินสมุยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า
อีกทั้งบางกอกแอร์เวย์ส ยังกำลังดำเนินการขยายศักยภาพสนามบินตราด ด้วยการปรับปรุงรันเวย์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่รองรับได้เฉพาะเครื่องบินใบพัด ATR-72 ให้สามารถรองรับเครื่องบินแอร์บัส A320 ได้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการและใกล้เสร็จสิ้น ครอบคลุมการขยายรันเวย์
การปรับปรุงพื้นที่รอบสนามบิน เคลียร์พื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน การเพิ่มอุปกรณ์สนับสนุน เช่น สถานีดับเพลิง รถดับเพลิง และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะมาสนับสนุน ซึ่งการขยายรันเวย์ของสนามบินตราดจะช่วยเปิดโอกาสในการรองรับเที่ยวบินจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนและประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีความสนใจในแหล่งท่องเที่ยวแถบตราดและเกาะช้าง
รวมทั้งในอนาคต บางกอกแอร์เวย์สมีแผนสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ที่สนามบินตราด ซึ่งจะใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 700-800 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า ปัจจุบันสนามบินตราดมีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ วันละ 2-3 เที่ยวบิน บินเฉพาะมาจากกรุงเทพฯ มีผู้โดยสาร 7-8 หมื่นคน ซึ่งยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก หากสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่และดึงดูดเที่ยวบินจากต่างประเทศได้ เช่น จากจีน โดยเริ่มจากเที่ยวบินเช่าเหมาลำก่อน
สำหรับสนามบินสุโขทัย ยังไม่มีแผนการลงทุนขยาย เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารยังอยู่ในระดับที่สนามบินสามารถรองรับได้ โดยสนามบินสุโขทัยยังคงเน้นการให้บริการนักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและโบราณสถาน ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะและไม่ได้มีอัตราการเติบโตสูงเหมือนกับการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล
ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่บางกอกแอร์เวย์ส ได้ร่วมลงทุนในนามบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุน โดยจะไม่รอโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจาก UTA ได้ลงทุนในโครงการนี้ไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับคณะอีอีซี เพื่อขอลดสเกลการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารลง
เนื่องจากการลงทุนอู่ตะเภาในตอนที่รัฐเปิดประมูล ยังไม่ได้มีการออกมาระบุว่าจะมีการลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิเต็มโครงการ การเจรจารายละเอียดการลงทุนที่จะขอลดสเกลลง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวต่อถึงการดำเนินธุรกิจของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ว่า บางกอกแอร์เวย์สได้รับอานิสงส์จากซีรีส์ ‘เดอะไวท์โลตัส’ และการขยายตัวของการท่องเที่ยวไทยตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้การจองเที่ยวบินล่วงหน้าในเส้นทางบินสมุย ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกันยายนเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป หลังจากซีรีส์จบการออกอากาศ
บางกอกแอร์เวย์ส
นอกจากนี้ยังมีโรงแรมชั้นนำที่เป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้ เช่น โฟร์ซีซั่นส์ สมุย ก็เข้ามาติดต่อกับสายการบิน ขอล็อทที่นั่ง เพื่อจะจัดทำแพ็คเกจเที่ยวตามรอยซีรีส์ไวท์โลตัส เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับพรีเมียมจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเที่ยวสมุย ที่น่าจะเห็นการเดินทางเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป และวางแผนจะเปิดให้บริการเส้นทาง สมุย-กัวลาลัมเปอร์ วันละ 1 เที่ยวบิน ในไตรมาส 4 เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารจากยุโรปที่เดินทางผ่านทางสนามบินกัวลาลัมเปอร์
เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทฯ คาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน 48,077 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 82% ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 4.3 ล้านคน ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยประมาณ 4,200 บาทต่อที่นั่ง
โดยเส้นทางบินสมุย เป็นเส้นทางที่ทำรายได้ให้สายการบิน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60 % ซึ่งสายการบินจะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินสมุย ตามดีมานต์ของนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วง อย่างมากสุดช่วงปีใหม่ ทำได้ 60 เที่ยวบินต่อวันเข้าสมุย
รวมทั้งบางกอกแอร์เวย์สมีแผนเพิ่มฝูงบินอีก 2 ลำในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เป็นเครื่องบินแอร์บัส A319 ทำให้สิ้นปีนี้จะมีเครื่องบินรวม 25 ลำ จากปัจจุบันที่มี 23 ลำ และหากมีความต้องการเพิ่มขึ้นก็อาจพิจารณาเช่าเครื่องบินเพิ่มเติมในลักษณะ wet lease เหมือนที่เคยทำในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเช่าทั้งเครื่องบินและลูกเรือ
รวมทั้งมีแผนจะปรับฝูงบิน (Re-fleet) เครื่องบินรุ่น ATR72-600 รวมทั้งสิ้น 12 ลำ โดยมีกำหนดทยอยส่งมอบระหว่างปี 2569 ถึงปี 2571 ทั้งนี้ บางกอกแอร์เวย์สคาดว่าปีนี้จะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เพิ่มขึ้นเป็น 82% จากปีที่แล้วที่ 80.3% และคาดว่าจะมีรายได้เติบโตประมาณ 8-9%
ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจของบางกอกแอร์เวย์สที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,084 วันที่ 3 - 5 เมษายน พ.ศ. 2568