ภาษีความหวานใหม่ ผู้ผลิตอ่วม เร่งเครื่องปั๊ม "โลว์ชูการ์" สู้ศึก

30 มี.ค. 2568 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2568 | 12:01 น.

ดีเดย์ “ภาษีความหวาน” เฟส 4 เริ่ม 1 เม.ย. 68 บิ๊กเครื่องดื่มยืนยันไม่ปรับขึ้นราคา คาดตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.29 แสนล้าน อานิสงส์จากอากาศร้อนจัด -ท่องเที่ยวโต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 2568 ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยจะมีมูลค่ารวม 2.29 แสนล้านบาท เติบโต 3.3% จากปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น และการเติบโตของการท่องเที่ยว โดยกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองคือ กลุ่มน้ำอัดลมและน้ำดื่มบรรจุขวด ที่คาดว่าจะเติบโต 2.6% และ 4.8% ตามลำดับ

แม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 55% ของตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งหมด ขณะที่การเติบโตของการท่องเที่ยวส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการใช้จ่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะขยายตัวอยู่ที่ 8% เพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2566

ภาษีความหวานใหม่ ผู้ผลิตอ่วม เร่งเครื่องปั๊ม \"โลว์ชูการ์\" สู้ศึก

ส่วนปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังและส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เห็นจะหนีไม่พ้น “การจัดเก็บอัตราภาษีความหวาน” ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2560 แม้จะผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว ยืดเยื้อต่อเนื่องจนถึงวันนี้ที่ย่างเข้าระยะที่ 4 จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2568 เป็นต้นไป โดยเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัมต่อ 100 มล. จะต้องจ่ายภาษี 1 บาทต่อลิตรเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จ่ายเพียง 0.3 บาทต่อลิตร

ขณะที่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัมต่อ 100 มล. จะต้องจ่ายภาษี 3 บาทต่อลิตรเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จ่ายเพียง 1 บาทต่อลิตร ทำให้สินค้าใด “ยิ่งหวานยิ่งต้องจ่ายแพง” ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มต่างปรับตัวรับมือกับมาตรการภาษีความหวาน แบบหืดขึ้นคอ เพราะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ไม่กล้าปรับขึ้นราคา เพราะต้องการรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาด และหันไปปรับสูตรคลอดผลิตภัณฑ์ทางเลือก “โลว์ชูการ์” ออกทำตลาดแทน

 นายชนินทร์ เทียนเจริญ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อาเจ ไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม “บิ๊กโคล่า” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน ระยะที่ 4 หรือเฟส 4 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ เนื่องจากได้มีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาเดิมได้

 “เรามีการปรับเรื่องของสูตร ส่วนผสม มาตลอดให้เข้ากับสุขภาพของผู้บริโภคที่ต้องการน้ำตาลน้อยลง ซึ่งไม่ใช่การปรับแค่ในประเทศไทย แต่เป็นระดับโลก เนื่องจากบิ๊กโคล่าเป็นบริษัทโกลบอล”

ทั้งนี้ เทรนด์ของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดสินค้าโลว์ชูการ์มีการแข่งขันสูงขึ้น โดยปัจจุบันตลาดน้ำอัดลมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ต้องการความสดชื่น และกลุ่มที่บริโภคน้ำตาลน้อย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ในส่วนของพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมของผู้บริโภคนั้น ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตแบบคงที่ปีละ 2-3% โดยตลาดน้ำดำมีสัดส่วนประมาณ 85% ของตลาดรวมน้ำอัดลมทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ตลาดน้ำอัดลมในช่วงซัมเมอร์ถือเป็นช่วงไฮซีซั่น ยิ่งอากาศร้อนยิ่งขายดี โดยยอดขายในช่วง 3 เดือนนี้ คิดเป็นกว่า 30% ของยอดขายทั้งปี สำหรับการแข่งขันในตลาดน้ำอัดลมนั้น ปัจจุบันเน้นไปที่เรื่องของการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ (Brand Awareness) รสชาติ และโปรโมชั่นต่างๆ เนื่องจากแบรนด์ผู้นำในตลาดต่างมีแบรนด์รอยัลตี้ที่แข็งแกร่ง

“แม้วันนี้ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น 3-5% จากปัจจัยต่างๆ โดยรวม แต่บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคต่อไป ยันไม่มีการปรับราคาสินค้ามานานกว่า 17 ปีแล้ว”

ด้านพลตรี พัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในเครือโคคา-โคล่าในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีแบรนด์ดังอย่างโค้ก-แฟนต้า กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทเชื่อมั่นว่า จะยังคงเติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยตั้งเป้าหมายมียอดขายเติบโตขึ้น 5-7% และมีรายได้รวม 8,700 ล้านบาท แม้ต้องสังเวยต้นทุนจากภาษีความหวานปีละ 120-160 ล้านบาท แต่บริษัทจะตรึงราคาสินค้าให้ได้นานที่สุด

 “ปัจจุบันบริษัทยังไม่อยากขึ้นราคาสินค้า เพราะเข้าใจว่าผู้บริโภคก็ลำบากเหมือนกัน เราจะพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้ดีที่สุดก่อน เพื่อรักษาผลกำไรเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีแผนเพิ่มรายได้จากสินค้าใหม่ ๆ เช่น น้ำอัดลมไม่มีน้ำตาล หรือเครื่องดื่มไม่อัดลมอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าในอนาคตต้นทุนจะสูงขึ้นจนรับไม่ไหวจริง ๆ เราก็อาจจะต้องปรับราคาขึ้นบ้าง แต่จะพยายามให้น้อยที่สุด”

โดยในปีนี้บริษัทมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม่มีน้ำตาล ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนเพียง 5% ของยอดขายทั้งหมด จะเติบโตได้อีกมาก โดยล่าสุด ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ‘โค้ก’ ซีโร่ กลิ่นวานิลลา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ขณะที่นายวรวุฒิ พงศ์ชินภัค ประธานผู้บริหารสายงานขายและการตลาด ประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งมีมูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตลาดพรีเมียม 2,000 ล้านบาท โดยผู้ผลิตหลายรายได้ปรับตัวรับมือภาษีน้ำตาลเฟส 4 ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำตาลน้อยหรือไม่ใส่น้ำตาล

“ในส่วนของ TCP เรามีสินค้า 2 กลุ่ม คือกลุ่มแมสและกลุ่มพรีเมี่ยม ซึ่งในกลุ่มแมสได้มีการปรับราคาสินค้า กระทิงแดง สูตรคลาสสิคขึ้นราคาจาก 10 บาท เป็น 12 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566 และหลังจากนั้นก็มีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์หลายตัว เพื่อลดปริมาณน้ำตาลลงเช่นกัน ซึ่งแนวโน้มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเครื่องดื่มอื่นที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับภาษีน้ำหวาน สำหรับภาษีความหวานเฟส 4 ที่กำลังจะมีผลนี้ บริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,083 วันที่ 30 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2568