กางสถิติหลอกลวงออนไลน์ 3 ปี 7.7 แสนคดี พี่มิจฯฉกเงินคนไทย 7 หมื่นล้าน

10 ม.ค. 2568 | 18:25 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2568 | 18:44 น.

"สกมช. เปิดสถิติ 15 กลโกง ในรอบ 3 ปี คดีหลอกลวงออนไลน์พุ่ง 7.7 แสนคดี มิจฉาชีพตุ๋นเงินไปแล้วกว่า 7 หมื่นล้าน "สินค้าออนไลน์" รั้งอันดับ 1 ไม่มีแผ่ว พบคนรวยสูญเงินรายละ 20 ล้าน ช็อก แก๊งต่างชาติใช้แอปปลอมหลอกลงทุน

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยในงาน NCSA Press Relations 2025 หัวข้อ "สกมช. เดินหน้า 2568 : ร่วมพลังสื่อไทย เสริมแกร่ง Team Thailand ไซเบอร์" ถึงสถานการณ์การหลอกลวงทางออนไลน์ในประเทศไทยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาคือ 2565 ถึง 2567 ที่ยังคงน่าเป็นห่วง โดยรูปแบบการหลอกลวงยังไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2565 แต่มูลค่าความเสียหายกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรวมแล้วคนไทยสูญเสียเงินจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์สูงถึงกว่า 70,000 ล้านบาท

เลขาธิการฯสกมช. ระบุว่า  จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า การหลอกลวงที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือการหลอกขายสินค้าราคาถูกเกินจริง รองลงมาคือการหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การรับชมคลิปวิดีโอ หรือการแพ็กสบู่ที่อ้างว่าจะรับซื้อคืนในราคาสูง โดยมิจฉาชีพจะเรียกเก็บค่าสมัครสมาชิกประมาณ 500 บาท จากนั้นจะอ้างเรื่องค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการต่างๆ เพิ่มเติม ก่อนที่จะเชิดเงินหนีไป
 

"ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้คนต้องการหารายได้เสริม เมื่อมีคนมาชักชวนให้ทำงานออนไลน์ที่ได้เงินง่ายๆ จึงหลงเชื่อและยอมโอนเงินให้" พล.อ.ต.อมร กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบการหลอกลวงรูปแบบใหม่ที่น่าเป็นห่วง คือการชักชวนไปทำงานต่างประเทศ โดยมิจฉาชีพจะอ้างว่าได้จ่ายค่าดำเนินการ 300,000 บาทไปแล้ว และให้เหยื่อผ่อนชำระเพียงหมื่นบาท พร้อมแสดงหลักฐานการโอนเงินปลอมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีการจ้างงานจริง

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)

อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือการหลอกลวงเกี่ยวกับเงินกู้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.แอปพลิเคชันเงินกู้ปลอม ที่นอกจากจะหลอกเอาเงินแล้ว ยังขโมยข้อมูลในสมาร์ตโฟนของเหยื่อ รวมถึงรายชื่อผู้ติดต่อทั้งหมด เพื่อนำไปข่มขู่และเรียกเก็บเงิน โดยจะโทรศัพท์ไปหาคนในรายชื่อติดต่อ อ้างว่าเหยื่อไปค้ำประกันเงินกู้ไว้

2.การหลอกให้จ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้าเพื่อขอกู้เงิน เช่น อ้างว่าจะให้กู้ 100,000 บาท แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 10,000 บาทก่อน ซึ่งเมื่อโอนเงินไปแล้วก็จะไม่ได้รับเงินกู้ตามที่ตกลง

ที่น่าตกใจที่สุดคือการหลอกลงทุน ซึ่งสร้างความเสียหายสูงถึง 30,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดย พล.อ.ต.อมร เปิดเผยว่า "ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะดี มีเงินเก็บจำนวนมาก และมักมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง บางรายมีเงินเก็บ 20-30 ล้านบาท และมักไม่เชื่อฟังคำเตือนจากลูกหลานหรือคนใกล้ชิด"

วิธีการของมิจฉาชีพ คือการใช้แอปพลิเคชันปลอมที่แสดงผลตอบแทนสูงเกินจริง และอนุญาตให้ถอนเงินได้จริงในช่วงแรกเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เช่น ลงทุน 100,000 บาท ถอนได้ 120,000 บาท จากนั้นจะหลอกให้ลงทุนเพิ่มเรื่อยๆ จนกระทั่งยอดในแอปพลิเคชันแสดงตัวเลขสูงถึง 20 ล้านบาท แต่เมื่อต้องการถอนเงิน จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าภาษี หรือค่าดำเนินการต่างๆ เพิ่มเติม

"ปัญหาที่สำคัญคือ เมื่อผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอก การติดตามเงินคืนทำได้ยากมาก เพราะเงินถูกโอนต่อไปหลายทอด และบางครั้งผู้เสียหายยังคงหวังว่าจะได้เงินคืน จึงยอมโอนเงินเพิ่มตามที่มิจฉาชีพเรียกร้อง เช่น กรณีที่เสียเงินไปแล้ว 500,000 บาท แต่ถูกหลอกว่าถ้าโอนเพิ่มอีก 30,000 บาท จะถอนเงินทั้งหมดได้ ทำให้เสียหายมากขึ้นไปอีก" พล.อ.ต.อมร อธิบาย

นอกจากนี้ ยังพบการหลอกลวงในรูปแบบ Romance Scam ที่แม้แต่พระสงฆ์ก็ยังตกเป็นเหยื่อ โดยมิจฉาชีพจะสวมรอยเป็นคนที่น่าสนใจ สร้างความสัมพันธ์ผ่านแอปพลิเคชันหาคู่หรือโซเชียลมีเดีย ก่อนจะหลอกให้โอนเงินหรือลงทุน บางรายถูกแบล็กเมล์และได้รับความเสียหายทั้งทางการเงินและชื่อเสียง

พลอากาศตรี อมร ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าว มาจากศูนย์บริการการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยสถิติการแจ้งความคดีออนไลน์ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 - 31 ธันวาคม 2567 พบว่ามีการแจ้งความผ่านระบบรวม 773,118 เรื่อง สร้างความเสียหายรวมกว่า 79,569,412,608 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาท

กางสถิติหลอกลวงออนไลน์ 3 ปี 7.7 แสนคดี พี่มิจฯฉกเงินคนไทย 7 หมื่นล้าน

เมื่อจำแนกตามประเภทคดี พบว่า:

  1. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยไม่มีอยู่จริง: 362,075 คดี (47.99%) มูลค่าความเสียหาย 5,035,703,009 บาท
  2. หลอกให้โอนเงินเพื่อกู้งาน: 98,139 คดี (12.69%) มูลค่าความเสียหาย 18,829,245,575 บาท
  3. หลอกให้กู้ยืม: 74,147 คดี (9.59%) มูลค่าความเสียหาย 3,584,065,339 บาท
  4. หลอกให้ร่วมลงทุนแชร์และพาณิชย์กรรม: 51,881 คดี (6.71%) มูลค่าความเสียหาย 28,841,588,819 บาท
  5. ศูนย์รับโทรศัพท์ (Call Center): 51,678 คดี (6.68%) มูลค่าความเสียหาย 10,761,310,885 บาท
  6. หลอกให้โอนเงินโดยวิธีอื่นร่วมด้วย: 32,253 คดี (4.17%) มูลค่าความเสียหาย 1,945,833,981 บาท
  7. หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อขอยืมเงิน: 30,685 คดี (3.97%) มูลค่าความเสียหาย 3,415,893,433 บาท
  8. หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบฯ: 16,577 คดี (2.14%) มูลค่าความเสียหาย 3,023,887,355 บาท
  9. หลอกให้ลงทุนตามคำร้องขู่บังคับฯ: 7,862 คดี (1.02%) มูลค่าความเสียหาย 1,754,992,134 บาท
  10. หลอกทำข้อมูลสินเชื่อเท็จกู้ยืม: 6,675 คดี (0.86%) มูลค่าความเสียหาย 5,949,611,888 บาท
  11. กรรโชกด้วยข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหาย: 5,374 คดี (0.70%) มูลค่าความเสียหาย 1,368,884,938 บาท
  12. หลอกให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam): 5,164 คดี (0.67%) มูลค่าความเสียหาย 1,641,441,115 บาท
  13. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยไม่ชำระเงิน: 3,874 คดี (0.50%) มูลค่าความเสียหาย 154,897,854 บาท
  14. นำข้อมูลบุคคลอื่นมาเปิดบัญชีออมทรัพย์: 532 คดี (0.07%) มูลค่าความเสียหาย 203,866,882 บาท
  15. คดีออนไลน์อื่นๆ: 23,182 คดี (3%) มูลค่าความเสียหาย 867,870,755 บาท

ด้านช่องทางการแจ้งความ พบว่าประชาชนเลือกแจ้งผ่านเว็บไซต์ ThaiPoliceOnline.go.th มากที่สุด 359,191 เรื่อง รองลงมาคือผ่านสายด่วน AOC 1441 จำนวน 258,693 เรื่อง และการแจ้งความด้วยตนเอง (Walk in) 161,234 เรื่อง โดยเฉลี่ยมีการแจ้งความ 746 เรื่องต่อวัน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียหาย พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 64% และเพศชาย 36% โดยกลุ่มอายุที่ตกเป็นเหยื่อมากที่สุดคือช่วงอายุ 31-40 ปี คิดเป็น 29.54% รองลงมาคือช่วงอายุ 41-50 ปี 20.68% และช่วงอายุ 25-30 ปี 17.09% ตามลำดับ

ทั้งนี้ แนวโน้มการแจ้งความคดีออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมในปี 2565 มีการแจ้งความเฉลี่ยเดือนละ 13,591 เรื่อง เพิ่มเป็น 19,775 เรื่องในปี 2566 และในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 34,678 เรื่องต่อเดือน

ด้านมูลค่าความเสียหายทางการเงิน พบว่ามียอดเงินที่มิจฉาชีพหลอกลวงไปแล้วกว่า 45,106,725,729 บาท โดยเจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินไว้ได้ 8,784,468,399 บาท คิดเป็น 19.47% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด

กางสถิติหลอกลวงออนไลน์ 3 ปี 7.7 แสนคดี พี่มิจฯฉกเงินคนไทย 7 หมื่นล้าน

สกมช.แนะนำให้ประชาชนระมัดระวังในประเด็นต่อไปนี้:

  1. หลีกเลี่ยงการหลงเชื่อข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง
  2. อย่าโอนเงินค่าสมัครหรือค่าดำเนินการล่วงหน้าให้กับคนแปลกหน้า
  3. ปรึกษาคนใกล้ชิดหรือผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจลงทุน
  4. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งเงินกู้ผ่านช่องทางที่เป็นทางการ
  5. ระมัดระวังการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลมีเดีย
  6. หากพบเห็นการหลอกลวง ให้รีบแจ้งเบาะแสที่สายด่วน สกมช. ตลอด 24 ชั่วโมง

"แม้เราจะเตือนและให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง แต่รูปแบบการหลอกลวงก็จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม เราจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหา" พล.อ.ต.อมร กล่าวทิ้งท้าย